ทำเลของร้านไม่ว่าจะเป็นร้านที่ขายอะไรก็เป็นเสมือนชัยภูมิสำคัญในการรบ โดยเฉพาะหากร้านค้านั้นมีหน้าร้านที่เป็นออฟไลน์ครับ แต่ทว่าในความเป็นจริงนั้นทำเลทองที่หมายปองอาจไม่ใช่ทำเลที่คุณมีไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอันใดก็ตามที่ทำให้ร้านค้าของคุณจับผลัดจับผลูไปตกเอาทำเลที่เป็นจุดอับ หรือการที่จู่ๆ ทำเลทองที่เคยเป็นแปรสภาพเปลี่ยนเป็นทำเลสุดยี้ขึ้นมา หากเกิดเหตุเภทภัยทั้งหมดขึ้น คุณจะทำอย่างไรดี หากคุณยังคิดไม่ออกเรามีวิธีการดี ๆ มาแนะนำครับ หากว่าคุณได้ทำเลที่ตั้งร้านที่ไม่ดีจะทำอย่างไรให้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ถ้าพร้อมแล้วเรามาดูไปพร้อมๆ กัน

แม้เรื่องของทำเลจะเกี่ยวข้องกับโอกาสทางธุรกิจแต่ก็มีคนเก่งๆ ที่ประสบความสำเร็จได้แม้จะอยู่ในที่ที่ไม่น่าอยู่

อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนต้นครับว่าใช่ว่าร้านค้าทุกร้านจะตั้งอยู่ในทำเลเงินทำเลทอง เพราะทำเลเหล่านี้ถ้าไม่ใช่มรดกตกทอดของเจ้าคุณปู่ก็มักจะมีราคาค่างวดที่อยู่ในระดับที่ถึงกับต้องปาดเหงื่อถ้าทุนของคุณมีไม่มากพอภาระในเรื่องของทำเลก็อาจฆ่าธุรกิจของคุณได้เช่นกัน บ่อยครั้งที่ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นก็อาจจะต้องตัดสินใจเลือกหน้าร้านที่ตั้งในทำเลที่หลายคนต้องเกาหัวว่า “เลือกเข้าไปได้อย่างไร” และก็เช่นเดียวกับความสงสัยที่ตามมาว่า “อยู่รอดมาได้อย่างไรในทำเลแบบนี้” คนที่แม้จะมีทำเลที่ตั้งร้านไม่ดีแต่ธุรกิจเขารอดมาได้ก็เพราะเขาใช้กึ๋นในการทำธุรกิจต่างหาก ดังนั้นทำเลจึงไม่เคยเป็นปัญหากับเขาเลย

7 วิธีการจัดการธุรกิจอย่างไรในกรณีที่ได้ทำเลไม่ดีทำอย่างไรให้ขายดี

1. ลงทุนทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จัก

ทำเลที่ไม่ดีส่วนมากมักเป็นทำเลที่ไม่ค่อยมีคนผ่าน เมื่อไม่มีคนก็ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเมื่ออยากให้คนเข้าร้านก็ต้องออกใบปลิวหรือทำป้ายเพื่อประชาสัมพันธ์ วิธีนี้แม้จะเป็นวิธีที่สุดแสนจะโบราณแต่ก็ยังใช้ได้อยู่และยังคงได้ผลอยู่ในปัจจุบันเช่นกัน
แต่ข้อเสียของวิธีนี้ก็คือต้นทุนในการจัดทำใบปลิว แผ่นพับหรือป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่อาจสูงขึ้นตามปริมาณที่ผลิต

2. จัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย

วิธีการนี้มักเป็นวิธีที่มาพร้อมกับการแจกใบปลิวและโดยมากก็มักจะเป็นคูปองส่วนลดที่พ่วงเข้าไปในใบปลิวแผ่นพับ การจัดโปรโมชั่นในกรณีนี้มีการหวังผลให้ลูกค้าได้เห็นและได้รู้จักทำเลที่ตั้งของร้านโดยใช้ส่วนลดเป็นแรงจูงใจในการเข้ามาที่ร้าน การจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายเพื่อดึงลูกค้าไม่ควรใช้อย่างพร่ำเพรื่อเพราะจะเป็นการลดทอนคุณค่าของสินค้าของคุณ แต่ควรใช้วิธีการนี้เป็นใบเบิกทางไปสู่วิธีการอื่น ๆ ต่อไปมากกกว่า

3. ปรับตัวและศึกษาพฤติกรรมการซื้อของคนในพื้นที่

เมื่อร้านค้าของคุณไม่สามารถดึงดูดใจหรือเรียกลูกค้าจากคนนอกพื้นที่ก็ถึงคราวที่คุณอาจต้องกลับมาจับกลุ่มเป้าหมายเป็นคนในพื้นที่แทน โดยการศึกษาพฤติกรรมการซื้อและปรับตัวไปตามพฤติกรรมของคนในพื้นที่แทน แต่คุณอาจต้องชั่งน้ำหนักดูว่าหากคุณต้องปรับทั้งหมดให้เป็นไปตามพฤติกรรมของพวกเขาจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของคุณมากน้อยเพียงใด ถ้าผลกระทบต่อธุรกิจไม่สูงมากนักวิธีการนี้จะช่วยให้ธุรกิจของคุณไปต่อได้ครับ

4. หาพันธมิตรทางการค้าช่วยเหลือและเกื้อกูลกันในทางธุรกิจ

การหาพันธมิตรทางธุรกิจก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่นิยมใช้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องยอดขายรวมไปถึงเรื่องของทำเลที่ตั้งร้านค้า การมีพันธมิตรที่ดีจะช่วยให้คุณสามารถระบายสินค้าในร้านออกไปได้และช่วยกระตุ้นยอดขายให้แก่ทางร้านของคุณ แต่กระนั้นคุณก็ไม่ควรหวังแต่เพียงพึ่งพาพันธมิตรเพียงอย่างเดียวแต่ควรมองหาทางออกอื่นๆ เข้ามาช่วยในธุรกิจของคุณด้วยเช่นกัน

5. สร้างมาตรฐานในสินค้าและบริการให้เป็นที่พูดถึงและจดจำ

เคยได้ยินคำว่า “ถ้าของดีจริงแม้ลำบากแค่ไหนคนก็จะไปซื้อ” ไหมครับ นี้ก็คือกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจนำไปใช้เมื่อร้านค้าของคุณได้ทำเลที่ไม่ค่อยจะดีเอาเสียเลย เมื่อคุณเสียเปรียบด้านทำเลสิ่งที่คุณต้องย้อนกลับมาให้ความสนใจให้มากขึ้นก็คือ “การสร้างมาตรฐานของสินค้าและบริการให้ดีมาก ๆ” หากคุณทำได้สิ่งนี้จะเข้าไปทดแทนข้อด้อยในเรื่องทำเลที่มีปัญหาได้ทันที เพราะถ้าของของคุณดีจริงแม้หนทางจะไกลแค่ไหนเขาก็พร้อมจะไปตามหาคุณจงทำให้ลูกค้านึกถึงคุณก่อนเสมอเมื่อเขาอยากได้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณคืออีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยคุณครับ

6. ใช้การตลาดออนไลน์เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา

เพราะยุคนี้เป็นยุคของออนไลน์การนำเอาการตลาดออนไลน์เข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านข้อจำกัดในเรื่องทำเลจึงเป็นวิธีการที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากที่สุด จงศึกษาการทำการตลาดออนไลน์ให้ละเอียดและใช้การตลาดออนไลน์เป็นกระบอกเสียงให้ร้านของคุณทั้งในช่องทาง Facebook, IG, Line Official Account หรือ YouTube ช่องทางออนไลน์คือวิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน

7. ปรับเปลี่ยนการขายจากออฟไลน์หน้าร้านมาเป็นการค้าออนไลน์

วิธีสุดท้ายที่ได้ผลดีไม่แพ้กันก็คือการปรับเปลี่ยนรูปแบบช่องทางการขายจากหน้าร้านออฟไลน์มาสู่การขายออนไลน์ โดยคุณอาจไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมาอย่างเต็มตัวก็ได้ครับ แต่ควรเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ลงไปด้วยและต้องพยายามให้สินค้าของคุณถูกมองเห็นในโลกออนไลน์ให้มากยอดขายของคุณก็จะเพิ่มขึ้นอย่างที่ต้องการ ผู้ประกอบการที่ใช้ช่องทางในการขายออนไลน์เก่งๆ สามารถที่จะสร้างยอดขายได้มากกว่าการขายบนหน้าร้านเสียอีก เพราะช่องทางนี้เรื่องของทำเลไม่ใช่อุปสรรคสำคัญอีกต่อไป

ทั้งหมดที่กว่ามานี้คือแนวทางในการแก้ปัญหาในกรณีที่ร้านค้าของคุณมีทำเลที่ไม่น่าปรารถนาก็อย่างที่กล่าวมาแล้วครับว่า เจ้าของกิจการที่เก่ง ๆ เข้าไม่ได้กังวลเรื่องของทำเลเลยหากเขามีกึ๋นที่จะนำพาธุรกิจไปได้ แต่สิ่งที่เขาเป็นกังวลมากกว่าเรื่องของทำเลก็คือ “การไม่มีความรู้ที่มากพอจะนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ” ต่างหากเพราะหากคุณมีความรู้ที่มากพอไม่ว่าหนทางจะพบเจออุปสรรคคุณก็สามารถเอาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์ครับ