วิกฤตโควิด-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการใช้ชีวิตเท่านั้น แต่ยังกระทบในทุกด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจ หลายคนตกงาน หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก หลายคนแห่กันไปขายสินค้าตามกระแส หรือสินค้าประเภทเดียวกัน เราจึงเห็นแต่คนขายของเยอะแยะไปหมด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่การที่จะขายให้ได้นั้นยากกว่า กลยุทธ์การเล่าเรื่อง (Storytelling) จึงเป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้แก่ธุรกิจ หากผู้ประกอบการสามารถนำเสนอเรื่องราวให้โดดเด่น ทำให้เป็นที่จดจำได้ง่าย ก็จะสร้างโอกาสให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และนี่คือศิลปะในการเล่าเรื่องอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจ มาเรียนรู้เคล็ดลับดีๆ ไปด้วยกันครับกับบทความสรุปเนื้อหาการสัมภาษณ์พูดคุยกับ ผู้กำกับหนังสั้น หนังโฆษณา นักเขียน Best Seller คุณ บิ๊ก นภัทร ตั้งสง่า

4 เทคนิคการเล่าเรื่อง สร้าง Storytelling ช่วยดันยอดขายให้ธุรกิจ SME

1.ดึงเอาจุดขายของแบรนด์ มาขยายความให้เป็นเรื่องราว

วิธีการเล่าเรื่องให้น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อแบรนด์ที่สื่อถึงตัวสินค้า เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้คน พอได้ยินชื่อปุ๊บ ก็อยากรู้จักทันที อยากค้นหาต่อว่าขายอะไร ผู้ประกอบการต้องวางคอนเซ็ปท์สโลแกนสินค้าให้สอดคล้องจุดขาย ไอเดียเรื่องเล่าต้องซัพพอร์ตชื่อแบรนด์ ผสมผสานสิ่งที่คนทั่วไปรู้จักเข้ากับความแปลกใหม่ เล่าเรื่องยังไงให้เชื่อมโยงกับสินค้าหรือบริการโดยไม่หลุดคอนเซ็ปท์ วางโครงเรื่องชัดเจน เพื่อที่จะนำเสนอเรื่องราวได้ครบ เรียกได้ว่าต้องงัดเอาความคิดออกมาใช้ให้มากที่สุด ส่วนชื่อแบรนด์ที่ใช้แนะนำว่าควรเป็นไปในทิศทางบวก บางชื่อมีความหมายสองแง่สองง่าม ฟังแล้วสะดุดหู ตลกขำขัน เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย แต่มันอาจไม่เวิร์คในระยะยาว

2.นำคีย์เวิร์ดที่น่าสนใจเข้ามาใช้ในการสร้าง Storytelling

การที่ผู้ประกอบการต้องหาจุดขายของแบรนด์ให้เจอ แค่นี้อาจยังไม่พอ ต้องรู้ด้วยว่าความแปลกใหม่ของเราคืออะไร สามารถนำเอาสองสิ่งนี้มาผสานเชื่อมโยงเข้าด้วยกันได้หรือไม่ อย่างไร แบรนด์เองก็เปรียบเหมือนชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่ง ผู้ประกอบการต้องผูกเรื่องราวระหว่างสินค้ากับแบรนด์เข้าด้วยกัน ในช่วงแรกต้องเน้นไปที่การสร้างคาแร็กเตอร์ให้แบรนด์ ลองจับเอาคีย์เวิร์ดที่น่าสนใจเข้ามาประยุกต์ใช้ในการสร้าง Storytelling ซึ่งต้องหยิบยกเอามาจากเรื่องจริงเท่านั้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ยกตัวอย่าง ทุเรียนภูเขาไฟ คนฟังจะรู้สึกสงสัยทันทีว่า ทุเรียนเกี่ยวข้องกับภูเขาไฟยังไง ก็อยากที่จะค้นหาคำตอบ การสร้างกิมมิค (Gimmick) ก็เพื่อดึงความสนใจของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการซื้อสินค้าของเรา ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจที่สูง ซึ่งนำไปสู่การจดจำทั้งตัวสินค้าและแบรนด์ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้อีกทางหนึ่ง ใครคิดไอเดียได้เร็วกว่า ก็จะกลายเป็นผู้นำเทรนด์

3.รูปแบบคอนเทนต์มีหลากหลาย ค่อยๆ ทำทีละอย่างในหลายช่องทาง

คอนเทนต์สามารถนำเสนอได้หลากหลายรูปแบบ เช่น คลิปวิดีโอ คลิปเสียง Infographic  ภาพถ่าย บทความ แค่ต้องสื่อสารให้น่าสนใจ ลองนำเสนอในมุมมองใหม่ๆ ที่ต่างจากคนอื่นดูบ้าง ต้องดูว่ากลุ่มเป้าหมายของเราใช้ช่องทางออนไลน์ใดมากที่สุด ปัจจุบันการทำวิดีโอคลิปวิดีโอ ไม่ได้ยากดังเช่นในอดีต ที่กำลังเป็นกระแสอย่างใน TikTok   ก็เป็นคลิปสั้นๆ ความยาวไม่ถึงนาที เหมาะสำหรับมือใหม่หัดทำคลิป ถ้าเทียบกับใน Youtube ที่มีความยาวมากกว่าหลายเท่า ส่วนบทความและรูปภาพก็สามารถโพสต์ได้ทั้งบน Facebook Page และเว็บไซต์ สำหรับผู้ประกอบการ SME บางท่านอาจมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ ถ้าจะเสียเงินลงทุนเพิ่มในส่วนนี้ ก็ต้องคิดถึงความคุ้มค่าที่ได้รับกลับมา แต่ไม่จำเป็นต้องจ้าง สามารถลุยเองได้เลย ช่วงแรกลองดูว่าสนใจช่องทางไหนเป็นพิเศษ อาจเริ่มจากความถนัดก่อน พยายามนำเสนอในหลากหลายช่องทาง พอทำไปนานสักพัก ค่อยๆ เพิ่มลูกเล่น ใส่เทคนิคนิดหน่อย เพราะประเด็นสำคัญขึ้นอยู่กับวิธีคิด การวางโครงเรื่อง ส่วนในระยะยาวนั้นเน้นความสม่ำเสมอเป็นหลัก

4.สื่อสารให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสามารถเข้าถึงลูกค้าได้

ผู้ประกอบการต้องรู้ว่าสินค้าของเรา จะขายให้ใคร ต้องรู้กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่แรก ซึ่งจะช่วยให้สร้างคอนเทนต์ได้อย่างตรงจุด เพื่อให้การสร้าง Storytelling ของแบรนด์เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากที่สุด เกิดประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการเองและลูกค้า สโลแกนที่ใช้อาจไม่เกี่ยวข้องกับสินค้า 100%  อาจมีการเล่นคำ ค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องราวไปเรื่อยๆ ขายสินค้าธรรมดาใช่ว่าจะสร้างเรื่องราวไม่ได้ ให้เน้นความสนุกเข้าไว้ ใส่ความสร้างสรรค์เข้าไป พยายามให้ผู้บริโภคเสพคอนเทนต์แล้วรู้สึกสนุก และอยากมีส่วนร่วมกับเรื่องราวของแบรนด์ซึ่งตรงนี้ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่ากลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใคร เป็นคนยุคไหน ชื่นชอบหรือสนใจอะไร และต้องปล่อยคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอ เพราะต่อให้มีฐานแฟนคลับ แต่ถ้าไม่มีการกระตุ้นให้กลุ่มลูกค้าเกิดการรับรู้อยู่เรื่อยๆ พอมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามา แบรนด์เราก็อาจถูกลืม หรือรั้งท้ายแบรนด์อื่นๆ ก็เป็นได้

เทคนิคการเล่าเรื่อง  การสร้าง Storytelling ก็เพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและจดจำ แต่ในระยะยาวธุรกิจจะไปรอดหรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพสินค้าเป็นหลัก  คุณภาพจะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ ถ้าสินค้าดี คอนเซ็ปท์โดนใจ คนก็จะเริ่มติดตามเรื่อยๆ ในช่วงแรกเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเรื่องราวที่นำเสนอจะได้ผลหรือไม่ สำคัญคือ หาจุดแข็งของแบรนด์ให้เจอ บางทีจุดเริ่มต้นของเรา อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่บางสิ่ง เราต้องเต็มที่กับสิ่งที่กำลังทำ ถ้าทำวิธีนี้แล้วไม่ได้ผล ลองดูว่ามีวิธีอื่นอีกหรือไม่ เพราะไม่มีอะไรง่ายสำหรับการทำธุรกิจ แต่ละคนมีโจทย์ที่ต้องเผชิญไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าใครสามารถมองเห็นและฉกฉวยโอกาสนั้นมาได้ก่อนกั

บริการอบรม ให้คำปรึกษา การทำให้สินค้าค้นหาเจอบน Google การทำ Digital Marketing & Brand Storytelling ทั้งแบบรูปแบบองค์กร กลุ่ม และ ตัวต่อตัวเทคนิคการเล่าเรื่อง