ท่องเที่ยวกลับมาแล้ว !! 4 สายการบินใหม่ทั้งเจ้าสัวประยุทธพาที สารสิน กระโดดเข้าตลาดธุรกิจการบิน

สำนักข่าวฐานเศรษฐกิจได้รายงานเรื่องธุรกิจการบินระอุเมื่อ 4 กลุ่มขอไลเซนส์ตั้งสายการบินใหม่ทั้งเจ้าสัวประยุทธ-พาที สารสินพร้อมลุยโดยมีรายละเอียดดังนี้

จากสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจการบินกลับมาฟื้นตัวตามไปด้วย ซึ่งจากช่วงที่ผ่านมาที่สายการบินเก่า ๆ ยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูตัวเองทำให้ทั้งนักบินและลูกเรือยังมีอัตราการว่างงานอยู่พอสมควรจึงกลายเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเข้าสู่สนามแข่งขันแม้ว่าธุรกิจนี้จะเป็นหนึ่งในธุรกิจปราบเซียนก็ตาม

ในขณะนี้มีข่าวเปิดเผยออกมาว่ามีภาคเอกชน 4 รายได้ทำการติดต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท.เพื่อเตรียมขอประกอบการธุรกิจการบิน โดยเอกชนทั้ง 4 รายประกอบด้วย

  • สายการบินพี80 แอร์ (P80 AIR) ของตระกูลมหากิจศิริ
  • สายการบินเรียลลีคูลแอร์ (Really Cool Airlines) ของนายพาทีสารสิน
  • สายการบินแลนดาร์ชแอร์ไลน์ (Landarch Airline) ของบริษัทเอ็ม-แลนดาร์ชจำกัด
  • สายการบินสยามซีเพลน (Siam Seaplane) ของบริษัทสยามซีเพลนจำกัด

โดยทั้ง 4 สายการบินที่ว่านี้กำลังดำเนินการทำเรื่องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (Air Operating Licence หรือ AOL) ซึ่งต้องผ่านการอนุมัติก่อน จึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการ ขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operating Certificate หรือ AOC) โดยคาดว่ากว่ากระบวนการเหล่านี้ดำเนินการแล้วเสร็จ สายการบินน่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปี 2567

เมื่อลงในรายละเอียดมีข้อมูลว่าสายการบิน “P80 AIR” จดทะเบียนจัดตั้งสายการบินในนามบริษัท พี80 แอร์ จำกัด โดยมีเจ้าสัวประยุทธ มหากิจศิริ และนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ เป็นคณะกรรมการบริษัท

สายการบิน P80 แอร์ จะเป็นสายการบินฟูลเซอร์วิส ที่เปิดให้บริการทั้งเที่ยวบินประจำและเช่าเหมาลำด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 787-800 รองรับผู้โดยสารได้ไม่เกิน 200 คน ในเส้นทางบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเน้นบินจากไทยไปยังเมืองรองในต่างประเทศ

ขณะที่ เรียลลี คูล แอร์ไลน์ส (reallycoolairlines) ของนายพาที สารสิน ก็เป็นสายการบินฟูลเซอร์วิสที่ให้บริการเที่ยวบินระยะไกล เน้นไปที่การบินต่างประเทศเพื่อต่อยอดธุรกิจหลังจากที่หันมาทำธุรกิจในนามบริษัท เรียลลี เรียลลี คูล (Really Really  Cool) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวออนไลน์

การแตกไลน์มาทำสายการบินก็จะเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านบล็อกเชนและโทเคนมาใช้ด้วย และมีการทาบทามกลุ่มทุนต่างๆที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เข้ามาร่วมลงทุนด้วย

บัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ ท่องเที่ยว

สมัครบัตรเครดิตท่องเที่ยว ธนาคารกรุงเทพ ได้ที่นี่ 

สำหรับสายการบิน “แลนดาร์ช แอร์ไลน์” ของบริษัท เอ็ม-แลนคาร์ช จำกัด โดยดั้งเดิมก็เป็นบริษัทผู้แทนจำหน่ายเครื่องบินเซสน่า (Cessna)ในไทยอยู่แล้ว มาในครั้งนี้ทางบริษัทต้องการขยายธุรกิจมาตั้งสายการบินเพื่อนำเครื่องบิน Cessna C208B ทำการบินโดยจะใช้เครื่องบินเซสน่าขนาด 10-12 ที่นั่งมาเน้นทำการบินเมืองขนาดเล็กโดยใช้สนามบินหาดใหญ่เป็นฮับ เส้นทางบินไม่เกิน 60 นาที โดยจะบินไปยังเบตง-นราธิวาส-สุราษฏร์ธานี

ในส่วนของสยาม ซีเพลน เจ้าของดำเนินธุรกิจด้านการท่องเที่ยวจะใช้เครื่องบินสะเทิ้นนํ้าสะเทิ้นบก เน้นการขึ้น-ลงจอดบนพื้นผิวนํ้าได้ ทำให้สามารถเข้าถึงสถานที่ที่อยู่ริมนํ้าหรือริมทะเลทั้งนี้ในแง่ของกฎหมายยังต้องพิจารณาในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยโดยเบื้องต้นอาจจะต้องขอทำการบินแบบไม่ประจำที่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนไปก่อน

นอกจากการเตรียมจัดตั้งสายการบินของไทยแล้ว ในต่างประเทศก็มีการจัดตั้งสายการบินใหม่ที่แสดงความสนใจเข้ามาทำการบินในไทย คือ การบินมายแอร์ไลน์(MYAirline) สายการบินของมาเลเซีย ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อเดือนม.ค.64

ที่มา: https://www.thansettakij.com/business/tourism/558720

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับข่าวท่องเที่ยวกลับมาแล้ว !! 4 สายการบินใหม่ทั้งเจ้าสัวประยุทธพาที สารสิน กระโดดเข้าตลาดธุรกิจการบิน

นับว่าเป็นข่าวที่น่าสนใจมากสำหรับการที่มีเอกชนเข้ามาขอไลเซนต์เพื่อดำเนินการสายการบินใหม่ เพราะเท่ากับว่าคนไทยจะมีทางเลือกมากขึ้นสำหรับการเดินทางรวมถึงมีเส้นทางใหม่ ๆ ที่เพิ่มความสะดวกสบายและครอบคลุมมากขึ้น

ธุรกิจสายการบินนับเป็นธุรกิจปราบเซียนในยุคนี้ แม้จะมีโอกาสทางธุรกิจอยู่มากมายประกอบกับที่ผู้ประกอบการรายเก่ายังไม่ฟื้นตัวจากช่วงโควิดอย่างเต็มที่ แต่ด้วยปัจจัยด้านคุณภาพและราคาคือสิ่งที่จะคัดกรองว่าใครคือผู้ที่มีโอกาสอยู่รอด โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอส ที่ต้องงัดกลยุทธ์ขึ้นมาแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อให้ได้ลูกค้า ซึ่งนอกจากจะมีสายการบินในประเทศก็ยังมีสายการบินจากนอกประเทศที่ต้องการเข้ามามีส่วนแบ่งในเค้กก้อนนี้เช่นกัน ซึ่งอัตราการแข่งขันที่สูงเช่นนี้ย่อมหมายถึงการที่ผู้บริโภคจะมีโอกาสได้รับการบริการที่ดีที่สุดและเป็นการบ้านสำคัญที่สายการบินจะต้องนำไปวางกลยุทธ์เพื่อเป็นจุดเด่นและโอกาสเติบโตของธุรกิจ