ในปี 2019 มีรายงานจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่แสดงถึงการปิดตัวลงของร้านค้าปลีกทั่วประเทศเกือบ 10,000 ร้าน จากตัวเลขนี้ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนรวมถึงผู้ประกอบกิจการค้าปลีกต่างตื่นตระหนกว่าในอนาคตอันใกล้นี้การค้าปลีกแบบดั้งเดิมอาจกำลังเข้าสู่กาลอวสาน และก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการค้าที่ย้ายสถานที่ไปสู่การค้าออนไลน์กันมากขึ้นดังที่เราได้เห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดของ E-commerce ที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน แต่ท่ามกลางฝุ่นควันแห่งความตื่นตระหนกนี้กลับมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่า แวดวงการค้าปลีกยังไม่ได้กำลังสูญหายไปเสียทีเดียว แต่มันกำลังอยู่ในช่วงของการปรับตัวและเปลี่ยนถ่ายตนเองไปสู่การค้าปลีกในรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น สัญญาณที่ว่านี้เป็นอย่างไร วันนี้เราจะไปจับตาดูสัญญาณนั้นไปพร้อม ๆกันครับ

E-commerce อาจเป็นเหตุผลหนึ่งของการล่มสลายของวงการค้าปลีก แต่เหตุผลหลักคือการไม่ยอมปรับตัวเองของผู้ประกอบการ

เบื้องหลังการถดถอยของวงการค้าปลีกเรามักจะได้ยินผู้ประกอบการหลายรายกล่าวโทษว่าเป็นเพราะการเข้ามาของระบบการค้าออนไลน์ที่กำลังจะเข้ามาแทนที่การค้าปลีกแบบดั้งเดิม แต่แท้จริงแล้วนั้น E-commerce เป็นเพียงจำเลยที่ถูกกล่าวโทษเท่านั้น เพราะการที่วงการค้าปลีกเข้าสู่ภาวะถดถอยนั้นล้วนเกิดขึ้นจากการไม่ยอมปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตนเองเลยต่างหาก ตัวอย่างที่สามารถกล่าวอ้างได้ก็คือเบื้องหลังการปิดตัวลงของห้าง Southdale Mall ในเมือง Minneapolis ที่เปิดทำการตั้งแต่ปี 1956 แต่เมื่อห้างไม่ยอมปรับเปลี่ยนตัวเองโดยยังคงให้บริการในรูปแบบเดิม ๆท้ายที่สุดห้างนี้ก็ต้องปิดตัวเองลงไปในที่สุดและผู้บริโภคเหล่านั้นก็หันไปซื้อสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์แทน

ใช่ว่าจะมีแต่ผู้ที่ยอมแพ้ เมื่ออยากไปต่อก็ต้องยอมเปลี่ยนแปลง

แม้เราจะได้ยินว่ามีการปิดตัวของร้านค้าปลีกรวมถึงห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น แต่กระนั้นก็ยังคงมีห้างและร้านค้าปลีกที่พยายามดิ้นรนและเปลี่ยนแปลงตัวเองให้รอดพ้นจากวิกฤตินี้ และก่อให้เกิดรูปแบบของห้างค้าปลีกขึ้นมาใหม่ใน 4 รูปแบบดังนี้

1. Life-Style Center

คือห้างค้าปลีกที่ปรับเปลี่ยนตัวเองจากรูปแบบดั้งเดิมโดยการลดการพึ่งพาจากผู้เช่าลง โดยเจ้าของพื้นที่ได้ทำการพัฒนาพื้นที่ของตนจนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์” เช่นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มีต้นไม้ตามบริเวณทางเดิน การเพิ่มพื้นที่ Co-working space เข้าไป การจัดการให้มีร้านค้าขนาดเล็กที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่เข้ามาใช้บริการรวมไปถึงการนำร้านอาหารเข้ามาแทนที่ Food Court โดยมีการวางรูปแบบและแนวคิดเพื่อดึงดูดใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น

2. Street Retails

การค้าในรูปแบบนี้เรามักจะรู้จักกันในชื่อของ “ถนนคนเดิน” ที่ 2 ข้างทางประกอบไปด้วยร้านค้าปลีกขนาดเล็กจำนวนมากเรียงรายอยู่รอบถนนที่ให้ลูกค้าเข้าไปเลือกดูและซื้อสินค้าตามที่ตนต้องการ เชื่อหรือไม่ว่าในประเทศสหรัฐอเมริกา การค้าในรูปแบบนี้เฟื่องฟูมากและกระจายไปอยู่ทั่ว 30 เมืองใหญ่ทั่วประเทศ โดยมีรายงานว่าเจ้าของพื้นที่มีรายได้จากค่าเช่าถึง 83 % เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ถึง 17 % เลยทีเดียว รูปแบบการค้าปลีกชนิดนี้ได้รับความนิยมถึงขนาดที่ว่าห้างค้าปลีกชื่อดังอย่าง Walmart และ Target ต้องปรับตัวลงมาสู้กับการค้าในรูปแบบนี้ด้วยการสร้างร้านค้าขนาดเล็กขึ้นมาเพื่อแข่งกับการค้าปลีกแบบ Street Retails นี้เลยทีเดียว

3. Market Hall

รูปแบบค้าปลีกที่ในพื้นที่ประกอบไปด้วยร้านค้าปลีกขนาดเล็กหลายร้านรวมกันและมีพื้นที่ส่วนหนึ่งจัดเป็นโซนที่รวบรวมร้านอาหารต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการสามารถซื้อหาสินค้าที่ต้องการไปพร้อม ๆกับการรับประทานอาหารในร้านอาหารต่าง ๆ การค้าในรูปแบบนี้บางครั้งอาจได้รับแรงบันดาลใจโมเดลการค้าแบบดั้งเดิมครับ และร้านค้าที่อยู่ใน Market Hall มีทั้งร้านที่เป็นร้านค้าถาวรหรือร้านค้าที่ให้บริการตามฤดูกาล การค้าแบบนี้ก็เป็นอีกหนึ่งการค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาแทนที่การค้าปลีกในรูปแบบเดิม

4. การค้าออนไลน์ที่ย้อนกลับมาสู่การมีหน้าร้านออฟไลน์

ในยุคที่หน้าร้านค้าปลีกออฟไลน์กำลังจะเข้าไปแข่งขันกันในโลกออนไลน์แต่ก็มีกรณีที่กลับกันนั่นก็คือการค้าออนไลน์ที่กลับลงมามีหน้าร้านออฟไลน์ควบคู่กันไป กรณีนี้มักเกิดขึ้นในพื้นที่หรือย่านที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น และแบรนด์การค้าออนไลน์นั้นต้องมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอยู่ในระดับหนึ่ง การค้าออนไลน์ก็จะช่วยส่งเสริมการค้าปลีกหน้าร้านหรือการค้าออฟไลน์ให้เติบโตไปด้วยกันได้ ตัวอย่างได้แก่ร้าน Warby Parker และ Casper ในประเทศสหรัฐอเมริกา

ความร่วมมือกันระหว่างผู้ให้เช่าพื้นที่กับเจ้าของกิจการรายย่อยก็สามารถช่วยต่ออายุให้การค้าปลีกยังคงอยู่ได้

นอกเหนือไปจากการปรับตัวของห้างค้าปลีกที่ต้องปรับตัวเพื่อให้รอดจากกระแสที่เปลี่ยนแปลงไปของวงการค้าปลีก ความร่วมมือกันระหว่างผู้ค้าปลีกกับเจ้าของพื้นที่ก็มีส่วนช่วยผลักดันให้วงการค้าปลีกดั้งเดิมอยู่รอดด้วยเช่นกัน ความร่วมมือที่ว่านี้อาจมาในรูปแบบของการจัดให้มีการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างเจ้าของพื้นที่และผู้ค้าในเรื่องของสถานที่ โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและระบบบริหาร เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบสัญญาเช่าที่เอื้อประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย วิธีการคิดคำนวณค่าเช่า รวมไปถึงการยืดหยุ่นระหว่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งหากข้อตกลงทั้งหมดตอบสนองความพึงพอใจของทั้ง 2 ฝ่ายก็มีโอกาสที่เราจะยังคงได้เห็นวงการค้าปลีกแบบดั้งเดิมสามารถยืนหยัดอยู่ได้ต่อไปในอนาคตครับ

แม้ว่าวงการค้าปลีกแบบดั้งเดิมจะมีสัญญาณบวกต่าง ๆเกิดขึ้นมากมายแต่กระนั้นสัญญาณการชะลอตัวที่เกิดขึ้นก็ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายผู้ค้าปลีกในอนาคตอยู่เช่นเดิม วงการค้าปลีกแบบดั้งเดิมจะอยู่รอดหรือไม่นั้นนอกเหนือไปจากการปรับตัวของผู้ค้าเองแล้ว อาจต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนที่จับมือกันเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ในอนาคตครับ

บริการอบรม ให้คำปรึกษา Digital Marketing & Brand Storytelling ทั้งแบบรูปแบบองค์กร กลุ่ม และ ตัวต่อตัวเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์