มีเจ้าของกิจการหลายคนที่ไม่รู้แน่ชัดว่าจะกู้เงินไปทำอะไร อันดับแรกคือต้องตกตะกอนความคิดให้ได้เสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเข้าไปคุยกับธนาคารแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่มีความชัดเจน สาเหตุที่หลายคนผิดหวังและไม่เข้าใจเมื่อถูกปฏิเสธคือ มุมมองของเรากับธนาคารนั้นต่างกัน

หนึ่งในปัญหายอดนิยมที่พบได้บ่อยในกลุ่มธุรกิจ SMEs คือ ขาดแคลนเงินทุน มักประสบปัญหาการขอกู้จากธนาคารหรือสถาบันการเงินเพื่อมาขยับขยายกิจการหรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สาเหตุหลักมาจากตัวผู้ประกอบการเองที่ขาดทักษะการบริหารเงินและไม่มีการจัดทำบัญชีอย่างเป็นระบบ ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งส่งผลต่อการพิจารณาขอยื่นสินเชื่อ ก่อนจะตัดสินใจต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า “กู้เงินไปทำอะไร” ลองมาดู 3 เหตุผลที่ธนาคารสามารถปล่อยกู้ได้

SMEs กู้เงินไปทำอะไร

มีเจ้าของกิจการหลายคนที่ไม่รู้แน่ชัดว่าจะกู้เงินไปทำอะไร อันดับแรกคือต้องตกตะกอนความคิดให้ได้เสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเข้าไปคุยกับธนาคารแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่มีความชัดเจน สาเหตุที่หลายคนผิดหวังและไม่เข้าใจเมื่อถูกปฏิเสธคือ มุมมองของเรากับธนาคารนั้นต่างกัน แน่นอนว่าใครๆก็อยากเติบโต แต่ต้องอิงจากความเป็นจริง ซึ่งธนาคารจะมองออกว่าสิ่งที่เราคิดเหมาะสมกับธุรกิจในตอนนั้นหรือไม่

ดังนั้นมือใหม่หัดทำธุรกิจควรเริ่มจากง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่มีหนี้สินมากเกินไป แบบที่เรียกว่า เกิดง่าย แต่ตายยาก แม้สะดุดก็ยังยืนหยัดได้ เมื่อมี SMEs ไปขอกู้ ธนาคารจะพิจารณาว่าธุรกิจตรงตามเงื่อนไขในการขอสินเชื่อหรือไม่ โดยอาศัยหลัก 3 P คือ Purpose (วัตถุประสงค์ของการกู้), Payment (ความสามารถในการชำระหนี้) และ Protection (การป้องกันความเสี่ยง) เพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้เสียในภายหลังได้

3 เหตุผลที่ธนาคารให้กู้

1.กู้ไปลงทุน  (Invest)

เงินลงทุน เป็นสิ่งที่ธนาคารอยากให้มากที่สุดเมื่อเทียบกับข้ออื่น ต้องเป็นการลงทุนเพื่อใช้ในการขยายกิจการหรือรีโนเวทในธุรกิจสำหรับกระบวนการผลิตหรือการบริการ สินทรัพย์ที่ลงไปนั้นต้องย้อนกลับมาเป็นกำไร เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง โรงงานอาคาร เครื่องจักรอุปกรณ์ และเครื่องใช้สำนักงาน

ถามตัวเองก่อนว่าตัดสินใจที่จะกู้แน่นอนแล้วใช่หรือไม่ เมื่อลงทุนไปแล้วธุรกิจจะงอกเงยและสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือเปล่า เช่น อยากลงทุนทำอพาร์ทเม้นต์ 40 ห้อง ตกแต่งให้สวยหรู มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ถามว่าลูกค้าคือใคร ถ้าขายไม่ได้จะทำยังไง จำเป็นต้องลงทุนถึงขนาดนี้หรือไม่ ลดลงมาหน่อยได้ไหม หรืออาจจะลงทุนแค่บางส่วนไปก่อน

โดยที่ธนาคารจะดูก่อนว่าเรามีทุนในส่วนของเรามากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบในการลงทุน ตัวเลขเหล่านี้ต้องแสดงให้ธนาคารเห็น เช่น ลงทุนร้านอาหารใช้งบประมาณ 2 ล้าน แต่ไปทำตัวเลขให้เป็น 3-4 ล้าน เพื่อที่จะเอาเงินของธนาคารมาทั้งหมด คิดแบบนี้คงไม่ได้ หมดยุคที่ธนาคารจะให้ทั้งหมด 100%  เมื่อทำการประเมินเสร็จสรรพแล้วว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ อย่างน้อยเจ้าของกิจการต้องมีจำนวนครึ่งหนึ่ง หลายคนอาจจะเคยเจอธนาคารบอกว่าเป็นไปไม่ได้ มีการหั่นราคาลงจากที่นำเสนอ หรือให้เจ้าของกิจการลงทุนไปก่อน เนื่องจากเกิดความไม่แน่ใจต่อธุรกิจนั่นเอง อย่างเช่นในอดีตการลงทุนก่อสร้าง ทางธนาคารได้ให้เงินไปทั้งก้อนแล้วแต่สร้างไม่เสร็จ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกันทั้งสองฝ่าย ตรงส่วนนี้ก็จะแบ่งจ่ายเป็นงวดแทน

อีกตัวอย่างที่พบได้บ่อยคือ กิจการที่ทำอยู่นั้นมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ยอดขายเยอะ จำนวนลูกค้ามีมาไม่ขาดสาย กำไรดี เจ้าของกิจการจึงมีความคิดที่จะขยายกิจการ จากเดิมที่เคยเช่าพื้นที่เล็กๆก็คิดที่จะซื้อตึกเป็นของตนเอง ปรากฏว่าเมื่อลงทุนเพิ่มเติมไปแล้ว กลับไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ทั้งๆที่ของเดิมก็ดีอยู่แล้ว เพราะเหตุนี้ทางธนาคารจึงต้องดูความเหมาะสมและความจำเป็นก่อน โครงสร้างการลงทุนต้องดูว่า

  • มีความเหมาะสมหรือไม่
  • แบกรับหนี้สินแล้ว ธุรกิจไปรอดไหม
  • สัดส่วนที่เจ้าของกิจการต้องลงทุนมีมากน้อยแค่ไหน

ส่วนเรื่องการคืนทุนจะช้าหรือเร็วต้องพิจารณาตามประเภทธุรกิจ การลงทุนต้องคุยกันยาว

2.เงินทุนหมุนเวียน  (Working Capital)

เป็นเงินที่หมุนเวียนใช้ในกิจการ ทั้งในรูปแบบซื้อมาขายไป ซื้อวัตถุมาเพื่อทำการผลิต หรือซื้อมาเป็นส่วนหนึ่งในการบริการ ดูจากรายการที่ต้องซื้อในการผลิตแต่ละรอบ คำนวณจากเครดิตการซื้อขาย เช่น โรงงานแปรรูปอาหารทะเล จะมีค่าใช้จ่ายของวัตถุดิบ กระบวนการแปรรูป บรรจุภัณฑ์ ค่าแรงพนักงาน ถ้าขายแล้วได้เงินสดก็ไม่มีความจำเป็นต้องกู้ แต่ถ้าขายแล้วมีเครดิต หรือเงินเข้าช้ากว่าเงินออก จำเป็นต้องมีเงินทุนหมุนเวียน

แต่ละธนาคารจะมีกติกาที่แตกต่างกันไป จะเบิกได้ก็ต่อเมื่อนำเอกสารเช่น ใบสั่งซื้อ มาประกอบการเบิก ซึ่งอาจจะไม่สะดวกสำหรับ SMEs ตรงนี้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ต้องคุยกับธนาคารและบริหารจัดการให้ดี

3.รีไฟแนนซ์  (Refinance)

รีไฟแนนซ์ หมายถึง การชำระเงินกู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดด้วยเงินกู้ใหม่  เป็นการย้ายหนี้สินที่มีอยู่จากที่หนึ่งมาอีกที่หนึ่ง ถ้าทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ ไม่มีการสร้างธุรกิจ ไม่มีการเพิ่มรายได้ กรณีเช่นนี้ธนาคารไม่ค่อยอยากรับ แม้จะเป็นเงินต้นก็ตาม ยกเว้นลูกค้าชั้นดีที่ทางธนาคารจะขอเข้าเจรจาเอง สำหรับคนที่มีประวัติทางการเงินไม่ดี ผลประกอบการค่อนข้างแย่ ธนาคารกลัวว่าย้ายมาแล้วจะเกิดปัญหา  ดังนั้นการสร้างเครดิตที่ดีให้กับตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ

ในการขอกู้สำหรับคนตัวเล็กอย่าง SMEs ต้องเริ่มจากการประเมินตัวเองก่อน อย่าลงทุนเกินกำลัง อย่าโลภเป็นอันขาด  เอาเท่าที่เหมาะสมและแบกรับไหว เว้นเสียแต่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากกิจการต้องพังลงเพียงเพราะทำอะไรเกินตัว

บทความเกี่ยวกับการกู้เงิน สินเชื่อธนาคาร