ในแวดวงนักลงทุนในตลาดหุ้น ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้ซึ่งถูกขนานนามเอาไว้ว่าเป็นบิดาของการลงทุนเน้นคุณค่าของเมืองไทยครับ ความสำเร็จของ ดร.นิเวศน์ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีในเส้นทางสายนักลงทุนถูกพิสูจน์แล้วจากมูลค่าเงินเริ่มต้นเพียง 10 ล้านบาทซึ่งเติบโตทวีมูลค่าหลายพันล้านบาทในปัจจุบัน และสร้างเงินปันผลเป็น Passive Income ให้แก่เขาถึงกว่า 300 ล้านบาทต่อปีหรือวันละเกือบ 1 ล้านบาท อะไรคือบทเรียนความสำเร็จของ ดร.นิเวศน์ ในบทความนี้มีคำตอบครับ

จากมนุษย์เงินเดือนตกงานสู่การเป็นนักลงทุนคุณค่าที่มีพอร์ตการลงทุนหลายพันล้านบาทในปัจจุบัน บิดาการลงทุนวีไอในเมืองไทย

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากรเกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2496 ในครอบครัวของช่างไม้ซึ่งมีฐานะ ยากจน ดร.นิเวศน์เป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 3 คน ทำให้ในวัยเด็ก ดร.นิเวศน์เริ่มรู้จักหารายได้ด้วยตนเองโดยการไปซื้อหมากฝรั่งมาแบ่งขายปลีกแก่เพื่อน ๆ จากนั้นจึงพัฒนาไปเริ่มขายขนมประเภทต่าง ๆ และรับจ้างทำงานพิเศษเพื่อหารายได้ ซึ่งจากความลำบากนี้เองทำให้ ดร.นิเวศน์รู้จักคุณค่าของเงิน และเป็นคนที่ประหยัด อดออมมาตั้งแต่นั้นครับ

ด้วยความที่เป็นคนเรียนดีมาตั้งแต่ต้น ทำให้ ดร.นิเวศน์สอบเข้าเรียนต่อได้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนอกจากการเรียน ดร.นิเวศน์ยังทดลองทำธุรกิจเล็ก ๆไม่ว่าจะเป็นการเพาะเห็ดฟาง เลี้ยงกุ้ง เปิดโรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น แต่ก็ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนั่นถือว่าสร้างประสบการณ์ให้เขาเป็นอย่างมากครับ

หลักงเรียนจบ ดร.นิเวศน์เข้าทำงานเป็นวิศวกรเครื่องกลที่โรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งในขณะที่ทำงาน ดร.นิเวศน์ได้เลือกศึกษาต่อระดับปริญญาโท MBA ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ (NIDA) โดยต้องเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย หลังจบ MBA ดร.นิเวศน์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าวิศวกร ในภายหลัง ดร.นิเวศน์ได้รับการชักชวนให้ไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี้จึงได้ขอลาออกจากงานวิศวกรที่ทำมาเป็นเวลา 7 ปี แต่การไปเรียนต่อปริญญาเอกของ ดร.นิเวศน์ไปโดยไม่ได้มีเงินทุนมากนักจึงต้องเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วยโดยใช้เวลา 4 ปีก็จบการศึกษาและกลับมาทำงานที่สถาบันการเงินแห่งหนึ่ง

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2540 เมื่อสถาบันการเงินที่ ดร.นิเวศน์ทำงานอยู่ได้รับผลกระทบจนต้องปิดตัวลงส่งผลให้ ดร.นิเวศน์ต้องกลายเป็นคนตกงานในวัย 42 ปีซึ่งทำให้ ดร.นิเวศน์ต้องประสบกับช่วงเวลาที่ลำบากอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบอย่างถี่ถ้วนทำให้เขาเลือกที่จะนำเงินเก็บที่สะสมมาทั้งชีวิตกว่า 10 ล้านบาทมาลงทุนในหุ้นทั้งหมด เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นซบเซาอย่างหนักทำให้หุ้นหลาย ๆตัวมีมูลค่าลดลงอย่างมาก ทั้งนี้เพราะเขาวิเคราะห์มาดีแล้วว่าธุรกิจที่เป็นเจ้าของหุ้นนั้น ๆได้รับผลกระทบน้อยมากและยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งอยู่และยังสามารถจ่ายเงินปันผลที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคารซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ ดร.นิเวศน์เริ่มต้นเส้นทางของนักลงทุนด้วยเงินเพียง 10 ล้านบาทก่อนที่จะทวีมูลค่าแตะ 1,000 ล้านบาทก่อนที่ตัวเขาจะมีอายุครบ 60 ปีและมีมูลค่าหลายพันล้านบาทในปัจจุบัน

 10 อันดับหุ้นที่ ดร.นิเวศน์และครอบครัวถือครองจนมีรายชื่อเป็นผู้ที่หุ้นใหญ่

ด้วยแนวคิดในการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ทำให้ในปัจจุบัน ดร.นิเวศน์ถือครองหุ้นในบริษัทชั้นนำต่าง ๆจนมีชื่อเป็นหนึ่งในผู้ที่หุ้นใหญ่ สำหรับ 10 อันดับหุ้นที่ ดร.นิเวศน์ถือครองและมีมูลค่าสูงในพอร์ตการลงทุนมีดังต่อไปนี้

– CPALL จำนวนหุ้น 45 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 3,307 ล้านบาท
– TCAP จำนวนหุ้น 21 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 703 ล้านบาท
– QH จำนวนหุ้น 350 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 700 ล้านบาท
– BAFS จำนวนหุ้น 5 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 113 ล้านบาท
– EASTW จำนวนหุ้น 10 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 100 ล้านบาท
– METCO จำนวนหุ้น 120,000 หุ้น มูลค่ารวม 15 ล้านบาท
– BCPG จำนวนหุ้น 12,000,000 หุ้น มูลค่ารวม 195 ล้านบาท
– BCP จำนวนหุ้น 8,000,000 หุ้น มูลค่ารวม 157 ล้านบาท
– IRC จำนวนหุ้น 5,400,000 หุ้น มูลค่ารวม 68 ล้านบาท
– MC จำนวนหุ้น 10,000,000 หุ้น มูลค่ารวม 78 ล้านบาท

รวมมูลค่าเงินลงทุนในหุ้นดังกล่าวมีมูลค่ามากกว่า 5,400 ล้านบาทและทำให้ ดร.นิเวศน์ได้รับเงินปันผลในปี 2562 ถึง 300 ล้านบาทหรือเกือบ 1 ล้านบาทต่อวัน

10 บทเรียนความสำเร็จในสไตล์ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

1. ประหยัด อดออม เห็นคุณค่าของเงินมาตั้งแต่เด็ก

เพราะในวัยเด็ก ดร.นิเวศน์เกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน ทำให้เขาเห็นคุณค่าของเงินและเป็นคนประหยัด อดออมมาตั้งแต่เด็ก นิสัยนี้จึงกลายเป็นรากฐานที่สำคัญที่ติดตัวเขามาและต่อยอดกลายเป็นการสร้างความมั่งคั่งให้แก่เขามาจนถึงปัจจุบันนี้ เพราะหากเขาไม่ประหยัด อดออมและไม่เห็นคุณค่าของการใช้เงิน เขากคงจะกลายเป็นเพียงมนุษย์เงินเดือนธรรมดา ๆคนหนึ่งที่อาจไม่มีเงินเก็บมากพอที่จะนำไปลงทุนเมื่อตอนที่เขาต้องตกงานก็เป็นได้

2. การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในความรู้

การลงทุนที่ดีที่สุดในความเห็นของ ดร.นิเวศน์ไม่ใช่การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่ารูปแบบต่าง ๆ ครับ หากแต่เป็นการลงทุนในความรู้ ซึ่งนับตั้งแต่เด็ก ดร.นิเวศน์เป็นผู้หนึ่งที่ขวนขวายเพื่อที่จะเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเอง และต่อมาเมื่อเขาผันตัวเองกลายเป็นนักลงทุนเขาก็ยังคงไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เหตุผลเดียวที่เขาทุ่มเทให้กับการลงทุนในความรู้ก็เพราะว่าความรู้เป็นสิ่งที่จะติดตัวเราไปตลอด และจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่เราจะสามารถเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่ตัวเองได้

3. ความสำเร็จในวันนี้ไม่ได้มาจากโชคช่วย แต่เกิดจากการมองเห็นโอกาสและมองสิ่งที่เกิดตามความเป็นจริง

หลายคนอาจปรามาสความสำเร็จในวันนี้ของ ดร.นิเวศน์ว่าเกิดจากโชคช่วย เพราะในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ ดร.นิเวศน์เริ่มต้นเข้ามาลงทุนในหุ้นอย่างจริงจังเป็นช่วงที่ตลาดซบเซาและผันผวนอย่างหนัก ทำให้ ดร.นิเวศน์สามารถเข้าซื้อหุ้นได้ในราคาถูกและกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ คำปรามาสเช่นนี้ดูจะเป็นการบั่นทอนความสามารถของ ดร.นิเวศน์อย่างมาก เพราะในช่วงที่ตลาดหุ้นซบเซาอย่างหนัก หุ้นหลาย ๆตัวราคาตกแบบระเนระนาดและทำให้นักลงทุนเกือบทั้งหมดต้องสูญเงินลงทุนไปจนไม่มีใครกล้าที่จะเข้ามาลงทุนในหุ้นในช่วงนั้น แต่ ดร.นิเวศน์ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าทำนั่นก็คือการเข้ามาลงทุนในหุ้นในช่วงที่ตลาดซบเซาอย่างหนัก ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ดร.นิเวศน์กล้าที่จะทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าคือเขามองสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงครับว่าแม้ราคาหุ้นจะร่วงอย่างหนัก แต่บริษัทก็ยังคงดำเนินกิจการได้อย่างเป็นปกติไม่ได้เป็นไปตามราคาหุ้นในตลาดแม้แต่น้อย นี่คือโอกาสอันดีที่จะเข้าลงทุนในหุ้นนั่นเอง

4. ซื้อหุ้นให้เหมือนทำธุรกิจ ทำให้ระมัดระวังในการลงทุนทุกครั้ง

ไม่ลงทุนตามกระแสคือหลักปฏิบัติที่ ดร.นิเวศน์แทบจะยึดถือมาตลอดชีวิตการลงทุนครับ นิยามการลงทุนของ ดร.นิเวศน์คือเขาจะเลือกซื้อหุ้นให้เสมือนกับกำลังทำธุรกิจอยู่ และจะถือครองหุ้นตัวนั้นเหมือนกับเขาเป็นเจ้าของกิจการ ดังนั้นทำให้ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลงทุนในหุ้นตัวใด เขาจะต้องทำการศึกษาบริษัทที่เขาจะลงทุนนั้นอย่างละเอียด และระมัดระวังตัวเองทุกครั้งก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในแต่ละครั้ง ซึ่งนี่เองเป็นข้อดีที่ทำให้เขาแทบจะไม่ค่อยพลาดในการลงทุนสักเท่าไหร่ และสิ่งที่ ดร.นิเวศน์จะไม่ยอมทำเป็นอันขาดก็คือ “การซื้อหุ้นตามกระแสโดยขาดการวิเคราะห์พื้นฐานของหุ้นตัวนั้น” ซึ่งกว่าร้อยละ 90 ของนักลงทุนที่ซื้อหุ้นตามกระแสหรือหุ้นปั่นก็มักจะต้องสูญเงินลงทุนไปอย่างน่าเสียดาย

5. ไม่ลงทุนในหุ้นที่ไม่รู้จักหรือบริษัทที่ไม่เข้าใจว่าทำธุรกิจอะไร

อีกหนึ่งบทเรียนที่น่าสนใจและนำไปสู่ความสำเร็จของ ดร.นิเวศน์ก็คือเขาจะไม่ลงทุนในหุ้นที่เขาไม่รู้จักหรือเมื่อวิเคราะห์พื้นฐานของบริษัทแล้วเขาก็ยังไม่เข้าใจว่าบริษัทนั้นประกอบธุรกิจอะไร หรือมีไซเคิลธุรกิจเป็นอย่างไร ดร.นิเวศน์ให้เหตุผลเอาไว้ว่า เมื่อเราไม่เข้าใจธุรกิจนั้นดีพอ เราก็จะไม่สามารถรู้ได้ว่าราคาหุ้นที่เหมาะสมที่จะทำการเข้าซื้อควรจะอยู่ในจุดไหน และนั่นอาจจะเป็นข้อผิดพลาดที่ร้ายแรงในการลงทุนครับ เมื่อไม่เข้าใจธุรกิจนั้น ดร.นิเวศน์ก็เลือกที่จะไม่เข้าไปยุ่งเสียเลยดีกว่า

6. เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่ควรโฟกัสในสิ่งที่เรารู้และเข้าใจและทำมันออกมาให้ดีที่สุด

แม้แต่นักลงทุนในหุ้นผู้เชี่ยวชาญอย่าง ดร.นิเวศน์ก็ไม่อาจรู้เรื่องราวในตลาดหุ้นในทุกเรื่อง นอกจากที่ ดร.นิเวศน์จะไม่ลงทุนในบริษัทที่เขาไม่เข้าใจแม้แต่อุตสาหกรรมไหนที่เขาไม่มีความรู้และไม่ถนัด เขาก็จะไม่เข้าไปยุ่งด้วยเช่นกัน และสิ่งที่ ดร.นิเวศน์ทำก็คือการโฟกัสไปในสิ่งที่เขารู้และเข้าใจเป็นอย่างดีและทำสิ่งนั้นออกมาให้ดีที่สุดครับ สำหรับผู้ประกอบการก็เช่นกัน จงอย่าพยายามทำในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัดแต่ให้พยายามโฟกัสในสิ่งที่เป็นจุดเด่นของตนเองและพัฒนาจุดเด่นนั้นให้ออกมาให้ดีที่สุดเมื่อนั้นสิ่งที่คุณทำก็จะประสบความสำเร็จอย่างที่คุณต้องการ

7. จงเรียนรู้เรื่องของการลงทุน เพราะลำพังแค่การมีเงินฝากเพียงอย่างเดียวไม่อาจเอาชนะเงินเฟ้อและสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวคุณเองได้

ดร.นิเวศน์ให้ทัศนะที่เกี่ยวกับการลงทุนเอาไว้อย่างน่าสนใจครับว่า “ทุกคนต้องรู้จักเรียนรู้การลงทุน เพราะลำพังการมีแค่เงินฝากในบัญชีธนาคารเพียงอย่างเดียวไม่อาจเอาชนะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นและไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองได้” หากผู้ใดต้องการความมั่งคั่งจึงจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุน เพราการลงทุนเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้คุณสร้างความมั่งคั่งได้นั่นเอง การลงทุนในที่นี้ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การลงทุนในตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียวครับ แต่ยังรวมไปถึงการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ การสร้างธุรกิจ การลงทุนในกิจการแฟรนไชส์ต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน ลองพยายามมองหาการลงทุนที่เหมาะกับสไตล์ของตนเอง เริ่มต้นศึกษาให้เข้าใจและลงมือทำ นี่จึงจะเป็นหนทางสู่ความมั่งคั่งของตัวคุณเองครับ

8. ไม่ตื่นตระหนกไปกับความผันผวนของราคาตราบใดที่พื้นฐานของหุ้นตัวนั้นยังดีอยู่ ก็ปล่อยให้หุ้นเติบโต

ในการลงทุนในตลาดหุ้นสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็คือ “ความผันผวนของราคา” ซึ่งแม้แต่ ดร.นิเวศน์เองก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความจริงในข้อนี้ไปได้ครับ แต่สิ่งที่ดร.นิเวศน์ยึดถือก็คือ ตราบใดที่พื้นฐานของหุ้นตัวนั้นยังดีอยู่ และไม่มีเหตุอันใดที่จะทำให้กิจการนั้นกระทบกระเทือน แม้ราคาหุ้นจะผันผวนเพียงใดเขาก็เลือกที่จะถือและปล่อยให้หุ้นตัวนั้นเติบโตต่อไปเพราะสุดท้ายราคาที่ผันผวนก็จะกลับมาสะท้อนมูลค้าที่แท้จริงของบริษัทครับ บทเรียนข้อนี้เป็นบทเรียนที่ผู้ประกอบการ SMEs ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนได้เช่นกันครับ อย่าพยายามตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแต่จงตั้งสติและพิจารณาเหตุผลให้ถี่ถ้วนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะสาเหตุใด เมื่อคุณตั้งสติและพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วคุณจะสามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

9. เลือกลงทุนในธุรกิจที่เป็นผู้นำตลาดในแต่ละอุตสาหกรรม เพราะมีความมั่นคงสูงและมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สิ่งหนึ่งที่เราจะสังเกตเห็นได้จากการาลงทุนของ ดร.นิเวศน์นั่นก็คือ ในแต่ละอุตสาหกรรมเขาจะเลือกลงทุนในบริษัทที่เป็นผู้นำตลาดเสมอครับ เพราะบริษัทเหล่านี้มีความมั่นคงสูงและยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง การลงทุนในกิจการที่แวดล้อมไปด้วยยักษ์ใหญ่ยังคงมีความเสี่ยง เพราะนอกจากจะเติบโตสู้บักษ์ใหญ่ไม่ได้ก็มีแนวโน้มที่จะถูกกลืนหายไปในอนาคตเช่นกัน

10. อย่ารีรอถ้าโอกาสมาถึงเพราะเมื่อโอกาสผ่านไปแล้วอาจจะไม่มีโอกาสย้อนกลับมาอีกเลย

ดร.นิเวศน์เคยได้กล่าวเอาไว้ครับว่า ผู้ที่จะประสบความสำเร็จได้คือผู้ที่สามารถฉกฉวยโอกาสที่ผ่านเข้ามาเอาไว้ได้อย่างไม่รีรอ และยังสามารถสานต่อโอกาสนั้นจนประสบความสำเร็จได้ในที่สุด จงอย่ารีรอเมื่อโอกาสดี ๆผ่านเข้ามาในชีวิตครับ เพราะเมื่อคุณปล่อยโอกาสดี ๆนั้นหลุดลอยไปแล้วก็ไม่แน่ครับว่าโอกาสเช่นนั้นจะหวนกลับมาอีกเมื่อไหร่ หรือบางคนโอกาสนั้นอาจจะหลุดลอยและไม่หวนกลับมาอีกเลยก็เป็นได้

ทั้ง 10 บทเรียนนี้คือสิ่งที่ทำให้ ดร.นิเวศน์ประสบความสำเร็จในฐานะนักลงทุนหุ้นคุณค่าชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของเมืองไทยครับ แม้อาจจะเป็นบทเรียนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหุ้นก็ตามแต่หากผู้ประกอบการ SMEs สังเกตดี ๆ จะพบว่าทุกบทเรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของคุณเองได้ทั้งสิ้นครับ เพราะไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจใด หากขึ้นชื่อว่าทำเพื่อการลงทุนและสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเอง ทุกบทเรียนข้างต้นของ ดร.นิเวศน์คือสิ่งที่น่าสนใจและควรนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจครับ และท้ายที่สุดสิ่งที่คุณทำก็มีโอกาสจะประสบความสำเร็จเหมือนอย่างที่ ดร. นิเวศน์ทำเช่นกัน