เพราะอะไรถึงโดนธนาคารฟ้อง?….เพราะการผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดเดียว ก็สามารถเป็นมูลเหตุให้ธนาคารฟ้องได้แล้ว ก่อนที่ธนาคารจะดำเนินมาฟ้องร้อง

ทางธนาคารได้พยายามติดตามทวงถามแล้วถูกเพิกเฉยไม่ได้รับการชำระหนี้จนทำให้ต้องเพิ่มระดับความเข้มข้นของการทวงหนี้ นั่นคือการฟ้องร้องดำเนินคดีกับลูกหนี้…แต่ในฐานะของลูกหนี้ที่ถูกธนาคารฟ้องจะทำอย่างไรได้บ้าง

1.ตั้งสติและตรวจสอบ

หากวันหนึ่งได้รับจดหมายฟ้องร้องคดีมาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมาอย่ามัวแต่ตื่นตระหนกตกใจ สิ่งแรกที่ควรทำคือตั้งสติ ตรวจสอบว่าเคยมีการทำธุรกรรมใด ๆ กับธนาคารที่ฟ้องร้องหรือไม่ หากไม่ใช่ควรรีบติดต่อไปยังธนาคารเพื่อร้องขอให้ตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินที่ทำให้เกิดคดี หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมเงินกับทางธนาคารแล้วไม่ได้ชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง และปล่อยล่วงเลยมาจนถูกธนาคารฟ้อง ควรตรวจสอบเงินต้น  ดอกเบี้ย และยอดค้างชำระว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่

2.ติดต่อธนาคารขอปิดบัญชีเพื่อจบคดี

หากคุณคิดว่าสามารถจ่ายหนี้ก้อนนั้นได้และไม่อยากเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาล ควรติดต่อไปที่ธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อเจรจาขอจ่ายหนี้สินที่ค้างชำระเพื่อปิดบัญชีหนี้สินนั้น หลังจากปิดบัญชีแล้วทางธนาคารจะทำการถอนฟ้องให้ในภายหลัง ซึ่งวิธีนี้จะรวดเร็วและยุ่งยากน้อยกว่าการเข้ารายงานตัวกับศาล แต่นั่นหมายถึงคุณจะต้องมีความสามารถที่จะชำระเงินก้อนใหญ่เพื่อปิดบัญชีกับธนาคารได้

3.อย่าเพิกเฉยประหนึ่งว่าจดหมายฟ้องร้องคือสูญญากาศ

เพราะการที่คุณนิ่ง ไม่ได้ทำให้ธนาคารในฐานะโจทย์ในคดีจะยอมปล่อยให้คุณลอยนวลไปง่าย ๆ การที่คุณไม่เข้ารายงานตัวตามนัด เท่ากับคุณหมดโอกาสที่จะสู้คดีในทุกทาง และหมายความว่าคุณยอมรับสภาพการถูกฟ้องร้องนั้นโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งอาจนำไปสู่การยึดทรัพย์และการฟ้องล้มละลายไปกาลต่อมาได้ ดังนั้น คุณควรเข้ารายงานตัวกับศาลตามวันและเวลาที่นัดหมาย เพื่อทำการเจรจาไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร

4.ธนาคารฟ้อง ไม่ได้หมายความว่าจะโดนยึดทรัพย์เสมอไป

กว่ากระบวนการฟ้องร้องจะดำเนินไปจนถึงขั้นตอนของการยึดทรัพย์ ไม่ใช่ว่าจะทำกันได้ในวันสองวัน ขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ในระยะเวลาที่กำหนดในคำพิพากษา ศาลจึงจะทำการออกหมายบังคับคดี เพื่อทำการยึด หรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ เพื่อทำการนำไปขายทอดตลาดในขั้นตอนต่อไป หากปล่อยให้กระบวนการฟ้องร้องดำเนินมาถึงจุดนี้ สิ่งที่ควรทำคือ การตรวจสอบรายการทรัพย์สินที่ถูกยึดว่ามีมูลค่าเกินมูลค่าหนี้สินหรือไม่ และแถลงมูลค่าราคาทรัพย์สินพร้อมหลักฐานต่อเจ้าพนักงานหากพบว่ามีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินต่ำจนเกินไปเพื่อให้เจ้าพนักงานประเมินราคาทรัพย์สินใหม่

5.เข้าร่วมการขายทอดตลาดทรัพย์สินทุกครั้ง

และหากเป็นไปได้ควรหาผู้เข้าร่วมประมูลเพื่อเสนอราคาสินทรัพย์ให้สูงขึ้น การเข้าร่วมสังเกตุการณ์การขายทอดตลาดทรัพย์สินแม้จะไม่ช่วยให้ได้ทรัพย์สินนั้นกลับคืนมา แต่สามารถช่วยให้คุณไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบมากจนเกินไป เพราะคุณมีสิทธิ์ที่จะคัดค้านได้ 1 ครั้ง ในกรณีที่เห็นว่าราคาที่ถูกประมูลต่ำมากจนเกินรับได้

6.ไม่มีทรัพย์สินให้ยึด ไม่ได้หมายความว่าคดีจบ

หลังจากที่ศาลตัดสินแล้ว คดีมีอายุความ 10 ปี เมื่อคุณไม่สามารถชำระหนี้ได้ และยังไม่มีทรัพย์สินอะไรให้ยึดเผิน ๆ อาจดูเหมือนคุณลอยตัวอยู่เหนือปัญหาแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเจ้าหนี้สามารถสืบทราบมาว่าคุณมีทรัพย์สิน หรือมีรายได้ใด ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 10 ปีนั้น เจ้าหนี้สามารถแจ้งเจ้าพนักงานบังคับดคีให้ทำการยึด หรืออายัดทรัพย์สินนั้นได้ตลอด

7.ศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย

เป็นขั้นตอนสุดท้ายในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดออกไปไม่เพียงพอในการชำระหนี้ ในกรณีที่มูลหนี้นั้นมีมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น หากสุดท้ายแล้วคุณถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย สิ่งที่ต้องทำคือการเข้ารายงานตัวตามกำหนดเป็นเวลา 3 ปี และในช่วงนี้จะไม่สามารถทำธุรกรรมใด ๆ ได้ รวมไปถึงการเดินทางออกนอกประเทศด้วย

ถ้าไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเวลาที่ศาลกำหนด อะไรบ้างที่จะถูกอายัด หรือยึดเพื่อนำไปขายทอดตลาด

  1. เงินฝาก เงินปันผล เงินกองทุน หุ้น และดอกเบี้ยเงินฝาก สามารถอายัดได้เต็มจำนวน แต่ไม่เกินมูลค่าหนี้สินที่ค้างชำระ
  2. เงินเดือน ในกรณีที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป หลักจากหักภาษีและค่าสวัสดิการสังคมต่างๆ ออกไปแล้ว สามารถอายัดได้ 30% ยกเว้นลูกหนี้เป็นข้าราชการจะไม่สามารถอายัดเงินเดือนได้
  3. โอที เบี้ยขยัน และค่าคอมมิชชั่น สามารถอายัดได้ 30% ของจำนวนเงินที่ได้รับ
  4. โบนัส สามารถอายัดได้ 50% ของจำนวนเงินที่ได้รับ
  5. เงินชดเชยรายได้กรณีการออกจากงาน สามารถอายัดได้เต็มจำนวน ยกเว้น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงินบำเหน็จบำนาญของข้าราชการไม่สามารถอายัดได้
  6. บ้านและที่ดิน ไม่ว่าจะติดจำนองไว้หรือไม่ก็สามารถยึดและขายทอดตลาดได้ทันที โดยรายได้จากการขายทอดตลาดจะถูกแบ่งไปชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ที่รับจำนองบ้านและที่ดินนั้น ๆ ด้วย
  7. ทรัพย์สินมีค่าที่สามารถขายทอดตลาดได้ เช่น เครื่องประดับ ทองแท่ง หรือของสะสมที่มูลค่าบางรายการ สามารถยึดและนำออกขายทอดตลาดได้ทันที
  8. รถยนต์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้แล้ว และเครื่องมือในการประกอบอาชีพที่มีมูลค่าเกิน 100,000 บาท
  9. ของใช้จำเป็นในครัวเรือน เช่น เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หากมูลค่ารวมแล้วเกิน 50,000 บาท สามารถยึดเพื่อนำออกขายทอดคลาดได้เช่นกัน

ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้ถูกธนาคารฟ้อง?

1.ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด

แม้ธนาคารจะไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำขนาดที่ว่าจ่ายช้า 1-2 วันแล้วจะดำเนินคดีกับคุณเลย แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจจ่ายช้าไปเป็นเดือน ๆ

2.ไม่ก่อหนี้เพิ่ม อย่าแก้ปัญหาโดยใช้วีการกู้ที่หนึ่งเพื่อมาโปะอีกที่หนึ่ง

เพราะจะเป็นการเพิ่มมูลค่าหนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม สุดท้ายแล้วคนที่จะเจ็บหนักที่สุดคือตัวคุณเอง

3.เมื่อได้รับการติดตามทวงหนี้จากธนาคาร หากสามารถจ่ายได้ควรรีบจ่าย

หากยังไม่สามารถจ่ายได้ (อาจมีการค้างชำระรวมกันหลายงวด) ควรรีบติดต่อกับธนาคารเพื่อขอปรึกษาว่ามีแนวทางใดที่จะพอทำได้บ้าง

4.ขายทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้ให้ครบจำนวน

หากไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามกำหนด ควรพิจารณาขายทรัพย์สินที่มีอยู่เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ อย่างน้อยคุณสามารถกำหนดราคาขายได้ดีกว่าปล่อยให้ล่วงเลยไปจนถูกฟ้อง ยึดทรัพย์แล้วนำไปขายทอดตลาด ซึ่งอาจขายไม่ได้ราคาสูงเท่าขายเอง

การกู้หนี้ยืมสินบางครั้งอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่ทำให้ขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จนนำไปสู่การฟ้องร้องขึ้น สิ่งที่ควรต้องมีเป็นสิ่งแรกคือสติ และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ศาลเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยและตัดสินคดี อย่าคิดว่านิ่งเสียเรื่องก็เงียบไปเอง เพราะสุดท้ายแล้วมันอาจสายเกินที่จะแก้ไข และหากไม่ต้องการให้เกิดการฟ้องร้อง สิ่งสำคัญที่สุดคือการชำระหนี้ตรงเวลา และไม่ก่อหนี้จนเกินกำลังที่จะจ่ายไหว เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้คุณรอดพ้นจากการถูกธนาคารฟ้องแน่นอน