เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 62 ที่ผ่านมา ทางสถาบันพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME Taokaemai.com ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Digital Transformation ซึ่งจัดโดย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI)  โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก และเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ SME ในยุคปัจจุบันอย่างแท้จริง เพราะ เป็นการพัฒนาทีมงานที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้าไปช่วย ผู้ประกอบการ องค์กร ทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ ในการปรับตัวให้ “อยู่รอด” ในภาวะที่ “สึนามิเทคโนโลยี” ถาโถมเข้ามาอย่างมากมาย จนหลายๆ ธุรกิจที่ไม่สามารถรับมือกับเรื่องเหล่านี้ได้ต้องปิดตัวไป และก็ยังมีอีกหลายธุรกิจที่อยู่ในสภาพที่เป็น “มะเร็งระยะสุดท้าย” รอวันที่ธุรกิจต้อง “ล่มสลาย” ในไม่ช้า

เบื้องต้นทางทีมงาน Taokaemai ขอสรุปเนื้อหาเพื่อให้เพื่อนๆ ได้มองเห็นภาพก่อนว่าทุกวันนี้เกิดอะไรขึ้น อะไรบ้างที่เราต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลง อะไรบ้าง รวมทั้งวิธีการเบื้องต้นที่แต่ละธุรกิจต้องกลับไปพิจารณาปรับใช้กันก่อนนะครับ

องค์ประกอบสำคัญในการทำ Digital Transformation ด้วย DX Framework by ATSi

Value Proposition หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง

สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจคือ “คุณค่า” ต่างๆ ที่เราส่งมอบให้กับลูกค้า และนี่คือหัวใจสำคัญของการ Transform ธุรกิจเช่นกัน คุณค่าที่จะส่งต่อให้กับลูกค้า คุณค่าอะไรที่จะส่งผลกับองค์กร ทั้งหมดนี้ต้องมีการวิเคราะห์และพิจารณากันอยู่ละเอียด เราไม่สามารถทึกทักไปได้เวลาว่า “คุณค่า” อะไรที่เราจะส่งมอบให้กับลูกค้า แต่ต้องอยู่บนพื้นฐาน “ความต้องการ” และ “ปัญหา” ของกลุ่มเป้าหมาย

ความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงคือ “คุณค่า” ที่เราคิดไปเอง แล้วส่งมอบให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เขา “ไม่เคยต้องการ” จึงกลายเป็นปัญหาใหม่ของธุรกิจ ที่พบเห็นได้ปล่อยคือ ผลิตสินค้ามาแล้วขายไม่ได้ สร้าง App มาแล้วไม่มีคนใช้

Value Proposition ใหม่ที่จะพัฒนาขึ้นมานี้ต้องพิจารณาใน 2 มิติคือ Pain Point หรือความเจ็บปวด ปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย และ Gain Point หรือประโยชน์ใหม่อะไรที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับพวกเขาเหล่านั้น

คุณค่า จึงเป็นสิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้อง “ทำการบ้าน” อย่างมากก่อนที่จะลงมือ Transform ธุรกิจ

3 ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการ Transformation

1.Customer Experience

ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับ “ลูกค้า” อย่างถ่องแท้ เกี่ยวกับพฤติกรรมของเขา ประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไร เมื่อลูกค้าเปลี่ยน หากเราไม่เปลี่ยน ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจ ดังนั้นสิ่งเราต้องมีการปรับปรุงคือการ ออกแบบประสบการณ์หรือทำ Experience Design ให้เหมาะสม สร้างจุด Touch Point ให้ตรงกับความต้องการ

ลูกค้า คือ ตัวกระตุ้นสำคัญ เพราะการทำธุรกิจคือ “การแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า” เมื่อปัญหาเขาเปลี่ยน ประสบการณ์เขาเปลี่ยน แต่ธุรกิจเราไม่ยอมเปลี่ยนตามนั่นเท่ากับเราเรายอมรับว่า “ธุรกิจเรากำลังรอวันปิดตัวในไม่ช้า

2.Operation Process

เมื่อเข้าใจความต้องการลูกค้า เข้าใจพฤติกรรมของเขา ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยภายนอกที่บีบบังคับให้เราต้องปรับตัว ส่งผลกระทบถึงกระบวนการทำงานภายในที่ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้า

การขับเคลื่อน Operation Process ไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบกระบวนการทำงานใหม่เท่านั้น แต่ปัจจัยหลักขึ้นอยู่กับคน 2 กลุ่มคือ

1.ผู้บริหาร เจ้าของกิจการ ที่ต้องมีวิสัยทัศน์ มีมุมมองที่จะเปลี่ยนแปลงการทำงาน เปลี่ยนแปลงองค์กร และเป็นผู้ “สนับสนุน” และ “มีส่วนร่วม” ไม่ใช่เพียงแค่ “สั่งการ” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น

 2.พนักงาน บุคคลากร ต้อง มีความรู้ และ ความเข้าใจ ถึงปัญหาที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงกระบวนการทำงาน รวมทั้งยินดีที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองเช่นกัน พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำงานในรูปแบบใหม่ เพื่อให้องค์กรอยู่ได้ และตัวเขาเองก็มีองค์กรให้อยู่ด้วยเช่นกัน

3.Business Model

บางธุรกิจจำเป็นที่จะต้อง “เปลี่ยนโมเดลธุรกิจ” หรือยกเครื่องธุรกิจใหม่หมด ปรับเปลี่ยนสินค้า และบริการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบรายได้เพื่อความอยู่รอด เพราะหากไม่ยอมเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ธุรกิจมีโอกาสถึงขั้นต้องปิดตัวล้มละลายเลยทีเดียว

มีตัวอย่างหลายธุรกิจที่ไม่มีการปรับ “Business Model” สุดท้ายแล้วอยู่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเคสที่คลาสสิคที่สุดอย่าง “ฟิลม์ Kodak”  ที่ต้านกระแสกล้องดิจิตอลไม่อยู่ เพราะยืนเป็นกระต่ายขาเดียวว่า ผู้คนจะยังใช้กล้องแบบฟิลม์

ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ไม่ยอมสร้าง “Business Model” ใหม่ขึ้นมา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ต่างกับเรื่องของ Kodak เรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่เรื่อง “ไกลตัว” แต่มัน “ใกล้ลมหายใจธุรกิจ” เรามาก อย่าคิดว่าไม่ใช่เราที่จะโดนเล่นงาน เพราะทุกวันนี้คู่แข่งธุรกิจที่เราเห็นอาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่เคยเป็นคู่แข่งของเราอีกต่อไป อาจจะเป็นใครก็ไม่รู้ที่เขามองเห็น “Pain Point” หรือ “Gain Point”  พวกเขาพร้อมที่จะกระโดดเข้ามาทำธุรกิจ และแน่นอนครับว่า พวกเขาเหล่านั้นพร้อมจะทำ “ทำลายล้าง” ธุรกิจโมเดลเก่าๆ ให้พังไปต่อหน้าต่อตา จนเราไม่อาจจะต้านทานได้เลยทีเดียว

การทำ Business Model ใหม่ได้นั้นต้องเกิดจากการ “กล้า” ที่จะเปลี่ยนแปลงของผู้บริหาร และ การมองเห็นอนาคต ทั้งระยะใกล้และระยะไกล ส่วนจะได้โมเดลธุรกิจแบบไหนนั้น อาจจะเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างบุคคลากรภายใน ร่วมกับทีมงานที่ปรึกษาจากภายนอก ที่เป็นผู้มีประสบการณ์และความชำนาญ และทำงานอยู่บนพื้นฐานที่ไม่มี “อคติ” กับรูปแบบเดิมที่เป็นอยู่

3 เครื่องมือที่จะช่วยให้เกิดการ Transform สำเร็จ

1.Data

จะทำการ Transform ธุรกิจได้จำเป็นที่เราจะต้องมีการนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ และนี่คือปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการคือ “ขาดข้อมูล” ไม่มี Data เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนกลยุทธ์ในมิติต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ปัญหา ความต้องการของลูกค้า

ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำเพื่อการอยู่รอดคือ “เริ่มเก็บข้อมูล” และควรลงทุนในการเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง ทุกวันนี้ Data คือ “ทรัพย์สิน” ที่มีความมากที่สุดในการแข่งขันธุรกิจ ใครมีข้อมูลที่มากพอ และเป็นประโยชน์มากพอ ผู้นั้นย่อมชนะในทุกตลาด เช่น Facebook ก็เป็นหนึ่ง Platform ที่รู้ถึงข้อมูลต่างๆ ของพวกเรา สามารถสร้างบริการใหม่ๆ ให้กับพวกเราได้ มีโมเดลธุรกิจรายได้ใหม่ๆ จากพวกเราได้

ผู้ประกอบการควรเริ่มเก็บข้อมูลลูกค้าตั้งแต่วันนี้ !!!! ก่อนที่จะไม่เหลือเวลา ไม่เหลือลูกค้า ให้เราได้เก็บ

2.Design Thinking

การออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ Business Model ใหม่นั้นจำเป็นที่เราจะต้องโฟกัส 3 ส่วนคือ

1.ลูกค้า มองในมิติ ความต้องการ ตอบโจทย์แก้ไขปัญหา และ ขนาดของตลาด ใหญ่พอไหม

2.ตัวเรา มองในมิติ จุดแข็ง จุดอ่อน (SW) ความสามารถในการแข่งขันของเราจะทำได้ไหม ทำได้ดีกว่าในตลาดมากน้อยขนาดไหน

 3.ความคุ้มค่า  บรรทัดสุดท้ายต้องดูว่ามันคุ้มค่าที่จะทำ คุ้มค่าที่จะลงทุนไหม หากคุ้มค่าก็เริ่ม และวางแผนธุรกิจในแต่ละได้ให้เหมาะสม

3.Technology

เป็นเรื่องท้ายสุดของการทำ Transform (ซึ่งส่วนใหญ่กลับทำในเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก จึงทำให้การ Transform ธุรกิจสะดุดหกล้ม จนไม่สำเร็จ) เราจะเลือกใช้เทคโนโลยีอะไรเข้ามาช่วย เพื่อให้เกิดการ Transform ธุรกิจสำเร็จ หากเปรียบ เทคโนโลยีเป็นยา ก็คงเป็นยาที่เกิดจากที่เราไปพบแพทย์ ทำการตรวจร่างกาย อย่างละเอียดถี่ถ้วน แล้วค่อยสั่งจ่ายยา เพื่อรักษาแก้ไขปัญหาให้ตรงกับอาการของเราที่เป็นอยู่

ส่วนกลุ่มที่ซื้อยาชุด ยาแผง ก็คงได้แค่ “ยาแก้ปวด” ซึ่งก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ถูกจุด กลายเป็น “ผู้ป่วยเรื้อรัง” สุดท้ายเมื่อพบว่าเป็นโรคร้ายแรง อาจจะไม่เหลือแม้เวลาและทุนที่จะรักษาตัวเองแล้ว

และอีกปัจจัยคือ เทคโนโลยี เป็นเรื่องของพลวัฒน์ หรือ มีความผันผวน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากเราไปยึดติด นั่นเท่ากับว่าเราเองก็ “ติดกับดัก” เทคโนโลยีเข้าให้แล้ว

ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ “SWOT” ธุรกิจตัวเอง หาหมอ ที่ปรึกษาเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหา และช่วยกันวางแผนธุรกิจ ช่วยกัน Transform ธุรกิจให้เรียบร้อยก่อน

   “วางแผนให้จบในกระดาษ ก่อนที่จะจ่ายเงินลงทุนในเรื่องเทคโนโลยี”

 

ก้าวต่อไปของผู้ประกอบการ

1.ศึกษาเรียนรู้แนวทางในการทำ Digital Transformation จาก Dx Expert Platform > http://dx.atsi.or.th

2.ปรึกษาทีมผู้เชี่ยวชาญจากโครงการ Dx Expert หรือทีมงานจากสถาบันพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME Taokaemai.com

3.อบรมให้ความรู้พนักงาน เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการ Transform ธุรกิจซึ่งแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยปัญหา โครงสร้าง และ ประเภทกิจการ

ได้เวลาที่ธุรกิจของท่านจะต้อง Transform ธุรกิจ ก่อนที่จะไม่เหลือธุรกิจให้ Transform