ธนาคารกลางยุโรปเตรียมออกสกุลเงินยูโรดิจิทัล สู้สกุลสหรัฐและจีน

สำนักข่าว CNBC ได้รายงานเรื่องยุโรปกำลังพิจารณาการใช้สกุลเงินดิจิทัลเพื่อป้องกันการครอบงำทางเทคโนโลยีของสหรัฐและจีนโดยมีรายละเอียดดังนี้ธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB กำลังดำเนินการอย่างจริงจังเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล เนื่องจากความพยายามที่จะปกป้องตนเองจากความตึงเครียดทั้งกับจีนและสหรัฐอเมริกา

ธนาคารกลางเริ่มตรวจสอบความเป็นไปได้ของการผลักดันการใช้เงินยูโร ดิจิทัลในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งผู้นำประเทศทั่วสหภาพยุโรปจะต้องตัดสินใจว่า ECB ควรผลักดันให้มีการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปหรือไม่และรวมไปถึงการทดสอบการเตรียมการทางเทคนิคที่จำเป็นเพื่อให้ชาวยุโรปสามารถใช้เงินยูโร ดิจิทัลได้

ธนาคารกลางเป็นกังวลว่ายูโรโซนจะอยู่ในสถานะที่ถูกกดดันทั้งจากสภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างจีนและสหรัฐอเมริการวมถึงในเชิงของเศรษฐกิจระหว่างบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐและระบบการชำระเงินของจีนที่ไม่มียูโรดิจิทัลอยู่ในทั้ง 2 ส่วนนี้เลย โดยในตอนนี้ยุโรปยังขาดแพลตฟอร์มดิจิทัลที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นดังกล่าวนี้ Christine Lagarde ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานธนาคารกลางยุโรปรับทราบความกังวลใจดังกล่าวระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยยุโรปเริ่มมองว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีการชำระเงินอาจเพิ่มความเสี่ยงของการครอบงำตลาดและการพึ่งพาเทคโนโลยีการชำระเงินจากต่างประเทศมากเกินไปและสุดท้ายย่อมส่งผลต่อความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์ของยุโรป

เทรด forex ให้ได้วันละ 1000 บาท

หากมองวิธีการชำระเงินที่นิยมใช้ในยุโรปพบว่ามากกว่า 2 ใน 3 ของธุรกรรมการชำระเงินผ่านบัตรในยุโรปล้วนแล้วแต่ดำเนินการโดยบริษัทที่มีสำนักงานตั้งอยู่นอกยุโรปทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น Mastercard, VISA, Paypal, Alipay และ UnionPay ด้วยความกังวลใจเช่นนี้เองทำให้นักการเมืองในยุโรปไม่ต้องการให้ผู้บริโภคหรือบริษัทในยุโรปต้องพึ่งพาการชำระเงินจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐรวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จีนกำลังจะกลายเป็นผู้กำหนดการชำระเงินเพียงรายเดียวใน “เส้นทางสายไหมดิจิทัล” ซึ่งเป็นโครงการสำคัญของจีนในการลงทุนด้านดิจิทัลทั่วโลก

เป้าหมายสำคัญของความพยายามที่จะผลักดันการใช้เงินยูโร ดิจิทัลก็เพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหภาพยุโรปให้มีเสถียรภาพมากขึ้นและเพื่อลดการพึ่งพาส่วนอื่น ๆ ของโลกให้น้อยลงซึ่งแนวความคิดนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้นภายหลังการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมารวมถึงหลังจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

ประธานธนาคารกลางยังกล่าวอีกด้วยว่าโครงการเงินยูโร ดิจิทัลถือเป็นโครงการทั่วไปของยุโรปซึ่งจะตอบสนองวัตถุประสงค์ของนโยบายสาธารณะที่กว้างขึ้น เช่น การเสริมสร้างความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์ของยุโรป โดยการอภิปรายเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังมีประเด็นที่ว่าเงินยูโร ดิจิทัลยังมีความเกี่ยวข้องกับแหล่งพลังงาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

แนวคิดการจัดตั้งโครงการเงินยูโร ดิจิทัลจึงมีรากฐานมาจากความพยายามป้องกันและความปลอดภัยของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวมีความโดดเด่นมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอันเป็นผลมาจากบริบททางภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐและจีน

แต่กระนั้นก็ยังคงมีนักวิเคราะห์บางคนให้ความเห็นที่น่าสนใจเอาไว้ว่าความพยายามจัดตั้งเงินยูโร ดิจิทัลย่าจะมีเบื้องหลังที่มากกว่านั้น โดยพวกเขามองว่าความพยายามนี้เกิดจากความต้องการในสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันและมีข้อมูลที่น่าสนใจกล่าวว่าธนาคารกลางอื่น ๆ เองก็พยายามที่จะพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมาเช่นกันจึงทำให้ทางธนาคารกลางยุโรปเร่งพัฒนาแนวความคิดการสร้างเงินยูโร ดิจิทัลนี้ขึ้นมาเพราะพวกเขาไม่ต้องการเป็นผู้ล้าหลังในแง่ของการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้นั่นเอง

ที่มา: https://www.cnbc.com/2023/02/16/ecb-digital-currency-aims-to-counter-potential-threats-from-china-usecb-digital-currency-aims-to-counter-potential-threats-from-china-us.html

ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาเงินยูโรดิจิทัล


เงินสกุลดิจิทัลกำลังจะเข้ามามีบทบาทในระดับสากลมากขึ้นในอนาคต จากเดิมที่เคยมีแต่สกุลเงินที่เอกชนเป็นผู้สร้างขึ้นมาในปัจจุบันเราเริ่มเห็นแล้วว่าธนาคารกลางของหลาย ๆ ประเทศก็เริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตนเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือเงินดิจิทัลสกุลดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา

เหตุผลที่ยูโรโซนต้องการผลักดันเงินสกุลยูโรดิจิทัลอาจมีสาเหตุจากเพราะพวกเขาไม่ต้องการตกเทรนด์เงินสกุลดิจิทัลก็จริงแต่ก็ต้องยอมรับในอีกสาเหตุด้วยว่าแม้พวกเขาจะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญกลุ่มหนึ่งของโลกนี้ แต่กระนั้นด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างมหาอำนาจทั้ง 2 อย่างอเมริกาและจีนที่กำลังขับเคี่ยวกันก็ทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบนี้ไม่น้อยทีเดียว และเหนืออื่นใด แม้จะมีเศรษฐกิจที่ค่อนข้างใหญ่ แต่พวกเขากลับต้องพึ่งพาระบบการชำระเงินจากทั้งจีนและอเมริกา ทำให้ยูโรโซนเองต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทั้ง 2 ประเทศนี้ไปโดยปริยายและหากเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้นก็อาจส่งผลกระทบใหญ่ต่อยูโรโซนทั้งหมด และในแง่ของการกำหนดยุทธศาสตร์ การพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอกมากเกินไปก็อาจทำให้ยูโรโซนไม่อาจมีอิสระในการดำเนินนโยบายบางอย่างได้จากข้อจำกัดหลาย ๆ ด้านจากการพึ่งพาเทคโนโลยีนอกยูโรโซนเช่นกัน ดังนั้นความพยายามผลักดันให้มีเงินสกุลยูโรดิจิทัลจึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากว่าจะมีทิศทางอย่างไรในอนาคต

สิ่งที่น่าจะเป็นจุดอ่อนของโครงการนี้คือยูโรโซนอาจเริ่มต้นช้าไปทำให้ยังไม่มีแพลตฟอร์มที่ใช้งานได้จริงเป็นของตัวเอง และแน่นอนว่ากว่าที่แพลตฟอร์มจะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็อาจจำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนารวมถึงประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในยูโรโซนให้หันมาใช้งานเทคโนโลยีของตนเองซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จได้เพียงใด เพราะเมื่อถึงเวลานั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการอยู่เดิมอาจพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากกว่าในปัจจุบันและทำให้การที่ประชาชนหันมาตัดสินใจใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นเรื่องยากขึ้นไปอีกหรืออาจไม่ประสบความสำเร็จเลยก็เป็นได้