การคิดต่างในการทำธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องสร้างสินค้าใหม่เสมอไป บางครั้งแรงบันดาลใจอาจมาจากสิ่งใกล้ตัว ต้องรู้จักสังเกต ตั้งคำถาม และหาคำตอบ เพื่อนำมาปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคเช่นเดียวกับแขกรับเชิญท่านนี้ที่ร่วมแชร์ประสบการณ์ในการพัฒนาธุรกิจครอบครัว ต่อยอดสินค้าจากภูมิปัญญาพื้นบ้านให้กลายเป็นสินค้าที่โดดเด่นมีความน่าสนใจ เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ คุณ สุขศิริ ฤทธิเดช เจ้าของแบรนด์ซอสกะปิ เคยนิคะ

ต่อยอดธุรกิจครอบครัว สู่การ Rebranding ครั้งใหญ่

ก่อนที่จะมาเป็นซอสกะปิ เคยนิคะ คุณสุขศิริ เล่าว่า ทางบ้านทำธุรกิจกะปิอยู่ก่อนแล้ว โดยมีคุณยายและคุณแม่เป็นผู้ริเริ่มภายใต้แบรนด์ “กะปิแม่ยินดี” หลังจากที่คุณสุขศิริเดินทางกลับจากการไปศึกษาและทำงานที่ต่างประเทศ อยากที่จะต่อยอดธุรกิจของคุณแม่ เพราะมองเห็นช่องทางที่สามารถไปต่อได้ ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่อาศัยอยู่ที่ประเทศอังกฤษ คุณสุขศิริ เล่าว่า ที่นั่นหาซื้อกะปิอร่อยๆ ทานได้ค่อนข้างยาก ทุกครั้งที่กลับมาประเทศไทยมักจะหิ้วกะปิจากที่บ้านกลับไปด้วยเสมอ เป็นของฝากที่ใครๆ ก็อยากได้

สิ่งแรกที่คุณสุขศิริทำก่อนที่จะกลับมาต่อยอดธุรกิจคือ ตั้งคำถามว่า ทำไมธุรกิจกะปิแม่ยินดีถึงไม่โต ปัญหาคืออะไร ในตอนนั้นสินค้ามีขายที่จังหวัดพัทลุง จำหน่ายตามงานแสดงสินค้า OTOP ผลิตในโรงเรือนขนาดเล็ก คุณสุขศิริจึงจัดการเรื่องการขอขึ้นทะเบียนอาหารกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พอมาเช็คในเรื่องของราคาขาย ก็พบว่าราคาที่ขายอยู่นั้นไม่ได้กำไร มีแบรนด์สินค้ากะปิแค่ไม่กี่รายที่กรรมวิธีการผลิตได้รับการยอมรับตามมาตรฐาน คุณสุขศิริต้องการปรับปรุงให้สินค้าผ่านมาตรฐาน จึงได้เข้าร่วมอบรมกับทางมหาวิทยาลัยทักษิณ ตั้งแต่การสร้างแบรนด์ และจดทะเบียนบริษัทในนามนิติบุคคล

มองเห็นความเป็นไปได้ มีแรงผลักดัน ใช้การตลาดนำการผลิต

ด้วยความรักในอาชีพของคุณแม่ รักในความเป็นคนใต้ มีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจที่กำลังจะสานต่อนี้สามารถดูแลครอบครัวได้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณสุขศิริไม่ย่อท้อสู้ไม่ถอย ในช่วงแรกต้องการบุกตลาดกะปิของแบรนด์แม่ยินดี วางแผนที่จะนำสินค้าไปจำหน่ายใน Modern Trade มีการ Rebranding  ออกแบบแพคเกจจิ้งใหม่ ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ติดปัญหาตรงที่ถ้าต้องการไปสู่ Mass Market ทางแบรนด์แม่ยินดีสู้เรื่องราคาไม่ไหว เพราะกะปิที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าขายในราคาไม่แพง รายใหญ่สามารถผลิตได้ในปริมาณมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกกว่ารายเล็ก อีกเหตุผลหนึ่งคือ ลูกค้ามักจะยึดติดกับแบรนด์ที่ซื้อเป็นประจำ การที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นทำได้ค่อนข้างยาก ในเมื่อรู้ว่าสู้เจ้าอื่นที่วางขายอยู่ก่อนแล้วไม่ได้ คุณสุขศิริคิดว่าจะสามารถหาฐานลูกค้าของตัวเองได้อย่างไร ต้องการที่จะสร้างฐานลูกค้าใหม่ ลองเปลี่ยนรูปแบบกะปิที่เราคุ้นชินกันให้อยู่ในรูปแบบผง แต่ส่งผลต่อรสชาติแถมค่าใช้จ่ายสูง หากต้องการส่งออกต้องใช้เงินทุนไม่ต่ำกว่า 5-6 ล้านบาท จากนั้นลองทำในรูปแบบก้อนสี่เหลี่ยม ซึ่งไม่ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของผู้บริโภค ใช้เวลาในการลองผิดลองถูกประมาณ 4 ปี จนได้ไอเดียที่จะทำซอสกะปิที่มีจุดเริ่มต้นจากครัว

ในตอนนั้นคุณสุขศิริค้นหาซอสกะปิก็พบว่าจำนวนคู่แข่งยังมีน้อย แต่ก็ไม่กลัวว่าจะไม่มีใครซื้อ เพราะกะปิไม่ใช่สินค้าใหม่ เป็นหนึ่งในวัตถุดิบอันเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทย เพียงแต่คนรุ่นใหม่ไม่คุ้นชินกับการนำกะปิมาใช่ประกอบอาหาร แล้วจะทำอย่างไรให้การใช้งานสะดวกขึ้น จากนั้นได้เข้าโครงการบ่มเพาะวิสาหกิจกับทางมหาวิทยาลัยทักษิณถึง 3 ปี เพื่อพัฒนาสูตรซอส บรรจุภัณฑ์เพื่อให้จัดเก็บได้นานขึ้น กลายมาเป็นแบรนด์ “เคยนิคะ” คำว่า “เคย” คือคำเรียก “กะปิ” ของคนภาคใต้ จุดประสงค์ในการตั้งชื่อแบรนด์ต้องเป็นคำที่จำง่าย เป็นคำที่น่ารัก เป็นชื่อเฉพาะ บอกความเป็นตัวตนของแบรนด์โดยที่ไม่ต้องอธิบาย

เริ่มต้นก้าวแรกด้วยการพาธุรกิจไปหาโอกาส

            ในส่วนของการตลาด คุณสุขศิริมักจะออกบูธจำหน่ายสินค้าด้วยตัวเอง เพื่อที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทางแบรนด์เคยมีโอกาสร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX  – ANUGA ASIA ได้รับผลตอบรับดีมาก นอกจากนี้มีการทำรีเสิร์ชทางออนไลน์ควบคู่กันไปด้วย จากการที่ได้เจอกับลูกค้าก็พบว่าสินค้ามาถูกทางแล้ว ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่อยากทำอาหารแต่ไม่ได้มีทักษะด้านนี้ สินค้ามีการใช้งานที่สะดวก ไม่ว่าจะเมนูไหนก็ทำได้ง่าย ใครทำก็ได้รสชาติอร่อย เพียงแค่ใช้ซอสกะปิเคยนิคะ จากนั้นได้มีการรีแบรนด์อีกครั้ง ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ มีความเป็นพรีเมี่ยมมากขึ้น เตรียมพร้อมสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น เพิ่มช่องทางการติดต่อทางออนไลน์

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการทำสินค้าเข้าจำหน่ายที่ Modern Trade คุณสุขศิริแนะนำว่า ให้เข้าร่วมโครงการที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานภาครัฐและมหาวิยาลัย อาจเริ่มจากหน่วยงานที่เราสามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีความตั้งใจจริง พร้อมที่จะลุยและพัฒนา นอกจากได้ความรู้แล้วมักจะมีโอกาสดีๆ ตามโครงการเหล่านี้ ที่สำคัญคือ ไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) หรือ NIA มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างความสามารถการแข่งขันของประเทศด้วยการใช้นวัตกรรม ได้จัดการแข่งขันภายใต้ “นิลมังกรแคมเปญ” เฟ้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไทย เป็นโครงการที่เปิดโลกทัศน์ของการทำธุรกิจให้กับคุณสุขศิริและยังชนะการแข่งขันได้รับเงินสนับสนุนอีกด้วย และต้องเตรียมความพร้อมของระบบหลังบ้านเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจเช่นกัน

ปั้นแบรนด์สินค้า ฝ่าวิกฤตโควิด-19

ซอสกะปิ เคยนิคะ เรียกได้ว่าเกิดขึ้นในช่วงที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยอดขายเพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตนี้ รวมถึงกระบวนการพัฒนาสินค้าก็เกิดในช่วงนี้เช่นกัน สถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมก็ต้องยอมรับและรอจนกว่าจะดีขึ้น ขณะเดียวกันอะไรก็ตามที่เราสามารถทำได้ ควรลงมือทำทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้ทุกอย่างคลี่คลายแล้วค่อยเริ่ม ลองดูว่าสินค้าของเรามีอะไรบ้างที่ต้องปรับปรุง สินค้าขายไม่ดีมีสาเหตุจากอะไร จะพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง คุณสุขศิริ เล่าว่า ก่อนที่ธุรกิจจะมาถึงทุกวันนี้ตัวเองก็เคยหลงทางมาก่อน ทางครอบครัวไม่เข้าใจในสิ่งที่กำลังทำจนเกิดความขัดแย้ง มองว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย จนมาถึงวันที่ได้รับรางวัล เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจจริงที่อยากจะสานต่อและพัฒนาธุรกิจ สิ่งสำคัญคือ การพูดคุยให้เกิดความเข้าใจกัน พยายามอธิบายให้เห็นภาพ เพิ่งจะมาทำการตลาดออนไลน์จริงจังได้ไม่นาน ให้ความสำคัญกับรูปภาพที่โพสต์ต้องสวยงามเหมาะกับการขาย สร้างแบรนด์ผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น อย่าง Facebook Page ในส่วนของรูปภาพและคลิปวิดีโอได้มีการจ้างผู้ที่เชี่ยวชาญด้านนี้มาจัดการให้ คุณสุขศิริถือว่าเป็นการลงทุนให้กับแบรนด์ สร้างความจดจำให้แก่ผู้บริโภคและช่วยยกระดับแบรนด์ให้ดูดีขึ้น

สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์

การทำธุรกิจควรเริ่มจากการมองหาโอกาส มีความตั้งใจ มีความอดทน และมีจุดยืนของตัวเอง อย่างสถานการณ์ในช่วงนี้ผู้ประกอบการต้องอยู่กับวิกฤตให้ได้ รู้จักปรับตัว และเรียนรู้อยู่เสมอ ตราบใดที่ไม่หยุดหยุดพัฒนา ไม่ยอมแพ้ เชื่อว่าต้องมีสักวันที่เป็นวันของเราอย่างแน่นอน ท่านใดที่สนใจซอสกะปิ เคยนิคะ ติดต่อได้ที่ https://www.facebook.com/KAPI.KHOEINIKHA/