หนี้เสียไทยพุ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยจับตาดูภาวะหนี้เสีย

สำนักข่าวฐานเศรษฐกิจได้รายงานเรื่องแนวโน้มหนี้เสียพุ่งธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งแบงก์ประกบรายตัวเพื่อจับตาดูภาวะหนี้เสีย โดยมีรายละเอียดดังนี้

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีไทยปี 2565 เติบโตแค่ 2.6% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 3.2% ซึ่งต่ำกว่าทุกสำนักวิจัย โดยเฉพาะไตรมาส 4 ที่พบว่ามีการขยายตัวเพียง 1.4%โดยลดลงจากที่ขยายตัว 4.5% ในไตรมาสก่อนหน้า ปัจจัยหลักที่ส่งผลเช่นนี้มาจากภาคส่งออกไทยที่หดตัวสูงถึง 10%

ขณะที่ตัวเลขการบริโภครายเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่รายงานออกมาก็ไม่ค่อยดีนักซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาเรื่องการกระจายตัวและการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังไม่แข็งแกร่งและกระทบต่อรายได้ประชาชนรวมถึงภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง

คุณสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า เวลานี้สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ stage 3 มีการปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบจากช่วงโควิดที่ผ่านมาโดยลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือปรับลดลดต่อเนื่องจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563

แต่อย่างไรก็ตามเอ็นพีแอลก็ยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้จากการปล่อยสินเชื่อใหม่แต่จะยังไม่เกิดปัญหาผิดนัดชำระจำนวนมากในเวลารวดเร็วนี้ ซึ่งธปท.มีความกังวลในกลุ่มที่รายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่จากภาคส่งออกที่ชะลอตัวและค่าครองชีพกับดอกเบี้ยที่ทยอยปรับขึ้นที่ยังส่งผลต่อภาคครัวเรือนที่ยังเปราะบางได้

ล่าสุดเดือนธันวาคม 2565 เอ็นพีแอลปรับลดลงจาก 2.77% ของสินเชื่อรวมเป็น 2.73% ส่วนใหญ่เป็นการปรับลดจากสินเชื่อธุรกิจจาก 2.83%เป็น 2.37%และรายย่อยยังทรงตัวเท่าเดิมที่ 2.62%

เมื่อพิจารณาจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคพบว่าสินเชื่อบ้านเอ็นพีแอลลดลงอย่างชัดเจนจาก 3.25% เป็น 3.01% ส่วนสินเชื่ออื่นๆกลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่น สินเชื่อรถยนต์จาก1.50% เป็น 1.66% สินเชื่อบัตรเครดิตจาก 2.46% เป็น 3.12% และสินเชื่อส่วนบุคคลจาก 2.22% เป็น 2.40%

ขณะที่ยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือแล้วมีจำนวนที้งสิ้น 3.38 ล้านล้านบาทมีผู้ได้รับความช่วยเหลือกว่า 5.22 ล้านบัญชี โดยมาจากทั้งธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์และสถาบันการเงินของรัฐของรัฐ ซึ่งหากเทียบปีต่อปีพบว่าเอ็นพีแอลทยอยปรับลดลงแต่หากเทียบเดือนต่อเดือนพบว่าลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นซึ่งส่วนใหญ่มาจากลูกหนี้ของแบงก์รัฐโดยเฉพาะไตรมาส 4 ที่ผ่านมา

เมื่อเรียงตามลำดับการฟื้นตัวพบว่าธุรกิจที่มีการฟื้นตัวดีที่สุดคือภาคการท่องเที่ยวซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจการค้า

ในขณะที่คุณกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่าภาพรวมเอ็นพีแอลปี 2566 ยังน่าเป็นห่วงจากความเปราะบางของลูกหนี้สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกันเดือนต่อเดือนแม้เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวก็ตามโดยธนาคารยังต้องดูแลใกล้ชิดในเรื่องคุณภาพหนี้ซึ่งปรากฏสัญญาณกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ stage 2 ที่ยังมีความเปราะบางโดยเฉพาะหนี้รายย่อย ยกเว้นสินเชื่อบ้าน

ขณะเดียวกันลูกหนี้กลุ่ม Stage2 ในไตรมาส4 ปี2565 และปี 2564 จะอยู่ในระดับ 6.22% และ 6.41% ตามลำดับ แต่รายละเอียดภายในยังมีหนี้รายย่อยที่อยู่ในความเปราะบางทำให้ธนาคารต้องให้ความระมัดระวังอยู่เพราะสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมขยับขึ้นในสินเชื่อประเภทต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเอ็นพีแอลทั้งปี 2565 จะต่ำกว่า 2.75% และคาดว่า จะเห็นเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.55-2.80% ในปี 2566 โดยยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้จากทั้งจากลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ยังไม่ได้รับอานิสงส์วัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ตัวเลขประมาณการเอ็นพีแอลนี้ยังเผื่อหนี้จากลูกหนี้รายย่อยซึ่งทำให้ธนาคารยังคงให้ความระมัดระวังอย่างสูง ซึ่งหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ทั่วถึงอาจส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ได้ แต่หากสามารถดูแลปัญหาคุณภาพหนี้ไม่ให้แย่ลงก็อาจรักษาระดับการสำรองหนี้เสียไว้ได้

ที่มา: https://www.thansettakij.com/finance/financial-banking/557931

ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจจากข่าว หนี้เสียไทยพุ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยจับตาดูภาวะหนี้เสีย

 

สรุปอัตราเงินสมทบประกันสังคม 2564 ล่าสุด

แม้ว่าสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายลงจะทำให้รัฐบาลผ่อนปรนนโยบายต่าง ๆ ลงไปและเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาอีกครั้งจนส่วนสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศให้เริ่มมีการฟื้นตัวกว่าในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในหมวดหมู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแต่ในหลาย ๆ ธุรกิจก็ยังไม่ได้ปรับตัวฟื้นขึ้นมาอย่างเต็มที่มากนักดังนั้นระดับหนี้เสียก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ดี

แม้ภาครัฐจะมีนโยบายที่ออกมาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดและช่วยแก้ปัญหาหนี้เสียที่มีการดำเนินการมาตั้งแต่ในช่วงโควิดจนในปัจจุบันจำนวนของผู้ที่เข้าโครงการมีจำนวนลดลงอย่างชัดเจนแต่ทว่าจากการที่สถาบันการเงินก็จำเป็นที่จะต้องปล่อยสินเชื่อก็ยังคงมีแนวโน้มที่ปัญหาหนี้เสียก็จะยังรงเพิ่มขึ้นจากมูลหนี้ใหม่ ๆในอนาคต สิ่งนี้คือสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยย้ำเตือนมากับทางธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ให้ระแวดระวังปัญหาหนี้เสียเหล่านี้ด้วยการจับตาดูสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้เพื่อจะได้เข้าไปแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีโดยเฉพาะในหมวดของสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต

แม้จะมีมาตรการรัฐออกมาให้ความช่วยเหลือแต่สิ่งที่ลูกหนี้ควรทำก็คือหากเริ่มมีสัญญาณของปัญหาการเจรจากับเจ้าหนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะได้หาทางออกร่วมกันและไม่ทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายจนยากจะแก้ไข

ในส่วนของลูกหนี้หากคุณเป็นหนี้ วินัยทางการเงินคือสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อไม่ให้มูลหนี้ของคุณสร้างปัญหา จงวางแผนการใช้จ่ายต่างๆให้เหมาะสม มีวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัดและเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกว่าคุณเริ่มมีปัญหาในการผ่อนชำระหนี้สินต่างๆ จงอย่าหนีและพยายามเข้าไปติดต่อเพื่อพูดคุยกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของคุณเพราะการไม่ยอมชำระหนี้โดยไม่มีการเจรจาใด ๆ มาก่อน โดยคิดไปเองว่าจะไปประนีประนอมขอลดหนี้ในภายหลังนั้น ความเชื่อเช่นนี้สร้างหายนะให้แก่ลูกหนี้มามากมายนับไม่ถ้วน เพราะท้ายที่สุดแล้ว อำนาจในการเจรจาหากเรื่องราวดำเนินไปถึงที่สุดก็ยังคงตกไปอยู่กับทางเจ้าหนี้อยู่ดี