หนี้บัตรเครดิตมีอายุความกี่ปี ? เรื่องน่ารู้ในคดีบัตรเครดิต

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบัน “เงินพลาสติก” หรือที่รู้จักกันดีในนาม บัตรเครดิต (Credit card) เป็นที่แพร่หลายอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะบัตรเครดิตสามารถตอบสนองการใช้ชีวิตของคน ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่เพิ่มเป็นเงาตามตัวกับจำนวนผู้ใช้บัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น ก็คือ การผิดนัดชำระหนี้หรือกล่าวง่าย ๆ ว่ามีการชักดาบหนี้บัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ประเดิมเรื่องแรกสำหรับคอลัมน์นี้ จึงขอเลือกที่จะนำเสนอข้อกฎหมายอันเกี่ยวข้องในคดีบัตรเครดิต สำหรับประเด็นเรื่อง เขตอำนาจศาลและอายุความ ดังนี้ ประเด็นแรก : เขตอำนาจศาลในคดีบัตรเครดิต

กรณีบัตรเครดิตนั้น มิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายระบุเขตอำนาจศาลโดยเฉพาะไว้ ในการเสนอคำฟ้องต่อศาลจึงต้องใช้บทบัญญัติทั่วไปเรื่องเขตอำนาจศาลตามมาตรา 4 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กล่าวคือ การเสนอคำฟ้องสามารถเสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิด โดยมิจำต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาจำเลย สำหรับฎีกาที่นำเสนอนี้ โจทก์เลือกที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่มูลคดีเกิด ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ คำว่า “มูลคดี” หมายความว่าอย่างไร เพื่อที่จะนำเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ถูกต้องต่อไปได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ (ประชุมใหญ่) 7788/2546

“ คำว่า “มูลคดี” หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง ดังนั้น การที่ธนาคารโจทก์ฟ้องว่า ในทางบัญชีหลังจากจำเลยได้ทำสัญญาและรับบัตรเครดิตไปจากโจทก์ จำเลยใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าและบริการหลายครั้งหลายหน ซึ่งในสำเนาใบสมัครสมาชิกบัตรเครดิตระบุว่า สถานที่รับบัตรเครดิตคือธนาคารโจทก์สาขาหนองคาย มิใช่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ การอนุมัติและการออกบัตรเครดิตจึงเป็นเพียงขั้นตอนปฏิบัติระหว่างโจทก์สำนักงานใหญ่กับสาขาหนองคาย เมื่อจำเลยทำสัญญาและรับบัตรเครดิตจากโจทก์สาขาหนองคายอันเป็นขั้นตอนสุดท้าย ที่จำเลยจะสามารถนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ชำระหนี้ค่าสินค้าและบริการจนเป็นเหตุพิพาท ซึ่งเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิและมูลหนี้ตามฟ้อง หากปราศจากเหตุและขั้นตอนสุดท้ายดังกล่าว โจทก์และจำเลยย่อมไม่มีนิติสัมพันธ์เกี่ยวกับบัตรเครดิตหรือสินเชื่อต่อกัน ดังนั้น มูลคดีนี้จึงมิได้เกิดในเขตศาลชั้นต้นอันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของโจทก์ แต่เกิดในเขตศาลที่ธนาคารโจทก์สาขาหนองคายตั้งอยู่ ”

ประเด็นสำคัญสำหรับฎีกานี้ คือ ความหมายของคำว่า “มูลคดี” ซึ่งหมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง ซึ่งศาลฎีกาได้วางแนวสำหรับกรณีบัตรเครดิตไว้ว่า สถานที่ที่จำเลยทำสัญญาและรับบัตรเครดิตจากโจทก์ คือ สถานที่ ที่มูลคดีเกิด เนื่องจากถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จำเลยจะสามารถนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ชำระหนี้ค่าสินค้าและบริการจนเป็นเหตุพิพาท ซึ่งเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิ มิใช่สำนักงานใหญ่ซึ่งเป็นเพียงสถานที่อนุมัติและออกบัตรเครดิตอันเป็นเพียงขั้นตอนปฏิบัติภายในของธนาคารโจทก์เท่านั้น ประเด็นที่สอง : การเริ่มนับอายุความและอายุความสำหรับคดีบัตรเครดิต

การเริ่มนับอายุความและอายุความสำหรับคดีบัตรเครดิตนั้นยังคงมีความสับสนอยู่มากในประเด็นว่า อายุความจะเริ่มนับเมื่อใดและมีอายุความกี่ปี ซึ่งถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งเนื่องจากสิทธิเรียกร้องใด ๆ ก็ตามถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ถือได้ว่าสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความและลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 193/9 และมาตรา 193/10 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ในคดีบัตรเครดิตจะเริ่มนับอายุความเมื่อใดนั้น ศาลฎีกาได้วางแนวไว้ว่า หนี้บัตรเครดิตไม่จำต้องมีการทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาก่อน โจทก์สามารถบังคับให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวได้ทั้งหมดทันที ผลคือ อายุความย่อมเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 193/12 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น คดีบัตรเครดิตโดยทั่วไปเมื่อเจ้าหนี้ได้แจ้งกำหนดการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ทราบแล้ว ครั้นถึงกำหนดลูกหนี้ไม่ชำระอายุความจะเริ่มนับทันทีในวันถัดไป เว้นแต่ เป็นกรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้หรือชำระหนี้ให้บางส่วน เป็นต้น ในส่วนระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้าที่อายุความสะดุดหยุดลงนั้นไม่นับเข้าในอายุความ และจะเริ่มนับอายุความใหม่ต่อเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดทั้งนี้ตามมาตรา 193/15 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

หนี้บัตรเครดิตมีอายุความกี่ปี ?

อายุความคดีบัตรเครดิตนั้น ศาลฎีกาถือว่าบริษัทผู้ออกบัตรเครดิตมีวัตถุประสงค์ให้บริการสินเชื่อแก่บุคคลทั่วไปในรูปของบัตรเครดิต ซึ่งจะออกบัตรให้แก่สมาชิกเพื่อให้สมาชิกนำบัตรไปซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ตกลงรับบัตร โดยไม่ต้องชำระราคาสินค้าเป็นเงินสดเพราะบริษัทจะเป็น ผู้ชำระเงินแทนสมาชิกไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินในภายหลัง ประกอบกับการที่บริษัทได้เรียกเก็บ ค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมรายปีจากสมาชิก บริษัทจึงเป็นผู้ค้ารับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่สมาชิกและได้เรียกเอาค่าที่บริษัทได้ออกเงินทดรองไป จึงเป็นกรณีตามมาตรา 193/34 (7) ซึ่งกำหนดให้สิทธิเรียกร้องในกรณีดังกล่าว มีอายุความสองปี และเพื่อให้เกิดความชัดเจนขอยกคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5092/2547 ประกอบการพิจารณาในประเด็นนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 502/2547

“ จำเลยที่ 1 ใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2539 และชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 สิงหาคม 2539 ซึ่งตามใบแจ้งยอดการใช้บัตรเครดิตได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2539 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ได้ทั้งหมดทันที โดยไม่ต้องมีการทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาก่อน อายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไป
จำเลยที่ 2 ใช้บัตรเสริมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ตามใบแจ้งยอดการใช้บัตรเครดิตกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 5 มีนาคม 2540 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ได้ทันที โดยไม่จำต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาก่อน อายุความสำหรับจำเลยที่ 2 จึงเริ่มนับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป

โจทก์มีวัตถุประสงค์ให้บริการสินเชื่อแก่บุคคลทั่วไปในรูปของบัตรเครดิตโดยออกบัตรให้แก่สมาชิก แล้วสมาชิกสามารถนำบัตรไปซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ตกลงรับบัตร โดยไม่ต้องชำระราคาสินค้าเป็นเงินสด โจทก์จะเป็นผู้ชำระเงินแทนสมาชิกไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลัง ซึ่งโจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมรายปีด้วย โจทก์จึงเป็นผู้ค้ารับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่สมาชิก การที่โจทก์ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลัง เป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไป จึงมีอายุความสองปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7)
ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองจึงเป็นลูกหนี้ร่วม มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การที่จำเลยที่ 1 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้วเช่นกัน ศาลจึงพิพากษายกฟ้องไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วยได้ ”

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในคดีบัตรเครดิตที่นำเสนอนี้ ผู้ใดจะนำไปใช้ผู้เขียนก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์แต่อย่างใด แต่อยากจะฝากข้อคิดสักนิดว่า หากท่านใช้จ่ายแต่พอตัวแล้วละก็ รับรองได้ว่าจะไม่ต้องมาปวดเศียรเวียนเกล้าเรื่องใช้หนี้ใช้สินใครแน่นอน

แหล่งที่มาข้อมูล กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม