ลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง สรุป 21 วิธีลดหย่อนภาษี 2565 เตรียมยืน 2566 นี้

ใกล้ถึงเทศกาลยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2565 หรือปี 2022 กันแล้ว โดยในปีนี้ผู้ที่ทำการยื่นแบบด้วยตนเองจะต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายในวันที่ 1 มกราคมถึง 31 มีนาคม 2566 แต่สำหรับผู้ที่ยื่นแบบภาษีออนไลน์จะได้รับการขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 8 เมษายน 2566 และเช่นเคยที่ว่าสำหรับผู้ที่จะต้องยื่นแบบแสดงภาษีรายได้ “การหักลดหย่อนภาษี” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่คุณจำเป็นต้องวางแผนเตรียมพร้อมเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้คุณประหยัดภาษีได้มากที่สุดนั่นเอง สำหรับบทความนี้เราจะมาทำการสรุปวิธีการทั้งหมดในการหักลดหย่อนภาษีว่าในปีนี้มีวิธีการใดบ้างที่จะช่วยให้คุณวางแผนภาษีได้อย่างเหมาะสมและประหยัดภาษีมากที่สุด

ลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง 21 วิธีลดหย่อนภาษี 2565 ที่ควรรู้ ประหยัดเงินในกระเป๋า

วิธีการลดหย่อนภาษีทั้ง 21 วิธีนี้สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มได้ 5 กลุ่มเพื่อให้ง่ายแก่การวางแผนและทำความเข้าใจ สำหรับทั้ง 21 วิธีการลดหย่อนภาษีประกอบไปด้วย

กลุ่มที่1: ค่าลดหย่อนภาษีทั้งของส่วนตัวและของครอบครัว

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว

สรรพากรกำหนดให้ค่าลดหย่อนส่วนตัวนี้ผู้ที่มีรายได้ที่ต้องยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไข โดยสามารถนำไปลดหย่อนได้ 60,000 บาท

2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส

เงื่อนไขของค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสคือต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายและในปีภาษีนั้นคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้โดยสามารถนำไปลดหย่อนได้ 60,000 บาท

3. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร

ค่าลดหย่อนนี้ยังมีรายละเอียดคือสามารถนำค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนตามที่จ่ายจริงแต่รวมสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทค่อครรภ์ ซึ่งสามีจะนำค่าใช้จ่ายนี้ไปลดหย่อนได้ก็ต่อเมื่อภรรยาไม่มีเงินได้

4. ค่าลดหย่อนภาษีบุตร

ค่าลดหย่อนภาษีบุตรจะสามารถนำไปลดหย่อนได้ 30,000 บาทต่อคนแต่สำหรับบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไปสามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยการหักค่าลดหย่อนในส่วนนี้ยังมีรายละเอียดดังนี้

– ต้องเป็นบุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมโดยบุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรือหากอยู่ในช่วงอายุ 20-25 ปีจะต้องเป็นบุตรที่กำลังศึกษาอยู่

– หากบุตรที่อายุเกิน 25 ปีแต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็สามารถลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน

– บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนบุตรจริง

– บุตรบุญธรรมสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาทสูงสุด 3 คน

– หากมีทั้งบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรมจะให้สิทธิ์บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายในการลดหย่อนก่อนและหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้เว้นแต่บุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1-3 สามารถใช้สิทธิ์บุตรบุญธรรมได้

5. ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส

ค่าลดหย่อนส่วนนี้สรรพากรกำหนดให้สามารถลดหย่อนได้ 30,000 บาทต่อคนสูงสุดไม่เกิน 4 คนและต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุมากกว่า 60 ปีและบิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทซึ่งพี่น้องที่เกิดจากบิดามารดาเดียวกันไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนซ้ำกันได้

6. ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ

ค่าลดหย่อนนี้สามารถนำไปลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อคนโดยผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทและมีบัตรประจำตัวผู้พิการและมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ

แต่หากผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพนั้นเป็นบิดามารดา เป็นบุตรหรือเป็นคู่สมรสด้วย ผู้มีรายได้สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ทั้ง 2 ส่วนคือทั้งในส่วนของบิดา มารดา คู่สมรส บุตรและส่วนที่เป็นการอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ

กลุ่มที่ 2: ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อการรวมหนี้

7. เงินประกันสังคม

ในปีภาษี 2565 นี้ผู้มีรายได้สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 6,300 บาท เพราะในปีภาษีนี้มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม

8. เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์

ค่าลดหย่อนนี้สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทโดยมีเงื่อนไขคือต้องเป็นกรมธรรม์ที่มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไปโดยต้องเป็นบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้นและหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปีถือว่าผิดเงื่อนไขและไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

9. เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ

ค่าลดหย่อนนี้สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทและเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

10. เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา

ค่าลดหย่อนนี้สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทโดยบิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทแต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุเกิน 60 ปี

11. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

ค่าลดหย่อนนี้สามารถลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทโดยต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป เป็นบริษัทประกันในประเทศไทยและมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ

12. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund)

ค่าลดหย่อนนี้สามารถลดหย่อนได้ 30 % ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

13. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds)

กองทุนนี้ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวโดยสามารถนำมาลดหย่อนได้ 30 % ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

  14. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน

ค่าลดหย่อนนี้สามารถลดหย่อนได้ 15 % ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

15. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

ค่าลดหย่อนนี้สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท

16. เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม)

ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจ Social Enterprise สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

ทั้งนี้สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตและการลงทุนในการวางแผนเกษียณเมื่อรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท

 

กลุ่มที่ 3: ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

17. เงินบริจาคทั่วไป

ค่าลดหย่อนนี้สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10%  ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษี

18. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ

ค่าลดหย่อนนี้สามารถลดหย่อนได้ 2 เท่าสูงสุดไม่เกิน 10%  ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษี

19. เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง

ค่าลดหย่อนนี้สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

กลุ่มที่ 4: ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

20. โครงการช้อปดีมีคืน 2565

ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้ผู้ซื้อสินค้าและบริการในประเทศสามารถนำค่าสินค้าและบริการมาลดหย่อนภาษีได้โดยไม่เกิน 30,000 บาท โดยสินค้าและบริการที่เข้าหลักเกณฑ์คือสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือรวมถึง E-Book

กลุ่มที่ 5: กลุ่มอสังหาริมทรัพย์สำหรับอยู่อาศัย

21. ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย

ค่าลดหย่อนนี้สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

การวางแผนภาษีที่ดีจะช่วยให้คุณสามารถประหยัดภาษีได้มากเพื่อที่จะเหลือเงินนำไปต่อยอดการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งได้ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงให้ความช่วยเหลือในการออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้มีเงินได้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามความเหมาะสม การเสียภาษีจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยผู้มีรายได้ทุกคน ผู้ที่หลีกเลี่ยงไม่ยอมยื่นแบบแสดงรายได้และเสียภาษีจึงมีความผิดตามกฎหมายซึ่งย่อมส่งเสียไม่คุ้มได้อย่างแน่นอน