กรมสรรพากรได้มีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินส่วนบุคคล กับสถาบันทางการเงิน  โดยสถาบันทางการเงินจะต้องทำการส่งรายงานความเคลื่อนไหวบัญชีส่วนบุคคลที่ตรงตามหลักเกณฑ์ของสรรพากรในการตรวจสอบธุรกิจออนไลน์

เรื่องภาษีร้านค้าออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่  อันที่จริงเราพอจะรู้และตื่นตัวกันกับเรื่องที่สรรพากรจะเริ่มจัดเก็บภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ มาตั้งแต่ปี 2560 จนกระทั่งมีข้อสรุปในช่วงปลายปี 2561 ว่าจะให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2563 โดยอาศัยการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินจากสถาบันทางการเงินต่าง ๆ ซึ่งเป็นช่องทางที่ง่ายในทางปฏิบัติและยากที่จะหลีกเลี่ยงได้  ดังนั้น สิ่งที่เจ้าของธุรกิจออนไลน์จะต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับมาตรการจัดเก็บภาษีร้านค้าออนไลน์มีอะไรบ้าง

ธุรกิจของเราเข้าหลักเกณฑ์มาตรการจัดเก็บภาษีออนไลน์ หรือเปล่า ?

กรมสรรพากรได้มีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินส่วนบุคคล กับสถาบันทางการเงิน  โดยสถาบันทางการเงินจะต้องทำการส่งรายงานความเคลื่อนไหวบัญชีส่วนบุคคลที่ตรงตามหลักเกณฑ์ของสรรพากรในการตรวจสอบธุรกิจออนไลน์  ดังนี้

  1. มีการนำฝาก / รับโอนเงิน รวมทุกบัญชีที่มีชื่อเจ้าของบัญชีเป็นบุคคลเดียวกัน ตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี หรือคิดเฉลี่ยเกิน 8 ครั้งต่อวัน เช่น นาย ก. มีการเปิดบัญชีธนาคาร  5 แห่ง จำนวน 5 บัญชี  เพื่อรับโอนเงินค่าสินค้า และมีบัญชีเงินฝาก 1 บัญชีสำหรับเก็บเงินและใช้ในการบริหารธุรกิจ รวมบัญชีธนาคารที่เป็นชื่อของนาย ก. จำนวน 6 บัญชี  กรมสรรพากรจะตรวจสอบการเคลื่อนไหวของบัญชีนาย ก.ทั้งหมด 6 บัญชี ว่าในปีนี้มีการฝาก / ถอน เกิน 3,000 ครั้งหรือไม่
  2. มีการรับโอนเงินรวมทุกบัญชีที่มีชื่อเจ้าของบัญชีเป็นบุคคลเดียวกัน ตั้งแต่ 400 ครั้งและมียอดเงินทุกบัญชีรวม 2 ล้านบาทขึ้นไป เช่น นาย ก. มีการเปิดบัญชีธนาคาร 5 แห่ง จำนวน 5 บัญชี  เพื่อรับโอนเงินค่าสินค้า และมีบัญชีเงินฝาก 1 บัญชีสำหรับเก็บเงินและใช้ในการบริหารธุรกิจ รวมบัญชีธนาคารที่เป็นชื่อของนาย ก. จำนวน 6 บัญชี กรมสรรพากรจะตรวจสอบว่าทั้ง 6 บัญชีนี้มีการรับโอนเงินเกิน 400 ครั้งต่อปีหรือไม่ และมีการรับโอนเงินเกิน 2 ล้านบาทต่อปีหรือไม่

หากตรวจสอบแล้วธุรกิจของเราเข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อ จะต้องทำอย่างไร ?

ร้านค้าออนไลน์มีผลประกอบการดี มีรายได้เกิน 2 ล้านบาทต่อปี และมียอดโอนตามหลักเกณฑ์ภาษีธุรกิจออนไลน์เมื่อไหร่ คุณจะต้องเตรียมตั้งรับเรื่องค่าภาษีธุรกิจออนไลน์ที่กำลังจะเพิ่มเข้ามาเป็นหนึ่งในหน้าที่ที่คุณจะต้องจ่ายให้กับรัฐ  แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้ธุรกิจต้องมีอันสะดุด เพราะเงินภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นมา

  1. วางแผนภาษีล่วงหน้า โดยใช้ข้อมูลปัจจุบัน ว่าปีนี้เราได้มีการฝากเงิน / โอนเงินกี่ครั้ง และยอดเงินรวมทั้งหมดถึง 2 ล้านบาทหรือไม่ คาดว่าในปีหน้ายอดขายจะเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปวางแผนภาษีเมื่อสรรพากรเริ่มบังคับใช้มาตรการนี้แล้ว ธุรกิจจะได้ไม่สะดุดเมื่อถึงเวลาที่ต้องเสียภาษี
  2. จัดสรรค่าภาษีล่วงหน้า ควรมีการจัดสรรปันส่วนเงินค่าภาษีที่จะต้องจ่ายออกจากทุนและกำไรที่ได้ในแต่ละเดือนอย่างชัดเจน และสะสมไว้จนครบกำหนดยื่นภาษีออนไลน์เพื่อใช้ในการชำระค่าภาษี  เพราะจะได้ไม่ตกใจเวลาที่ต้องควักเงินก้อนใหญ่ออกมาจ่ายทีเดียว
  3. ศึกษาหลักเกณฑ์ วิธีการและข้อยกเว้นต่าง ๆ ให้ละเอียด เจ้าของธุรกิจออนไลน์ควรศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ เกี่ยวกับภาษีออนไลน์ให้มากที่สุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง  เช่น หากโอนเงินให้ตัวเองจากบัญชีหนึ่งไปอีกบัญชีหนึ่งจะนับเป็นรายได้หรือไม่  , วิธีการที่ใช้คำนวณภาษีมีกี่วิธีแบบไหนที่เหมาะกับเรามากที่สุด
  4. ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว แม้จะมีการประกาศว่าจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2563 แต่หลักเกณฑ์และวิธีการปลีกย่อยต่าง ๆ ก็ยังอยู่ในขั้นตอนของการปรับปรุงแก้ไข หาข้อสรุปและทางออกที่ชัดเจน เช่น การเปิดบัญชีร่วมจะต้องใครจะต้องเป็นผู้เสียภาษี , การโอนเงินข้ามบัญชีโดยผู้โอนและผู้รับโอนเป็นบุคคลเดียวกันจะต้องรายงานหรือไม่  ดังนั้น เจ้าของธุรกิจออนไ ลน์ควรติดตามความเคลื่อนไหวเป็นระยะ ๆ
  5. ไม่ควรหาทางหลีกเลี่ยงโดยใช้ช่องโหว่ของกฏหมาย เพราะเมื่อใดก็ตามที่สรรพากรตรวจพบความผิด คุณจะถูกดำเนินคดี เสียภาษีที่ขาด ค่าปรับ 2 เท่าของเงินภาษีที่ขาด และเงินเพิ่มเดือนละ 5% นับจากวันที่ครบกำหนด  การเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการภาษีออนไลน์อย่างถูกต้องตรงไปตรงมาจะทำให้ธุรกิจไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียเงินจำนวนมากเมื่อสรรพากรตรวจพบความผิด

ร้านค้าออนไลน์จะต้องเสียภาษีเท่าไหร่ คิดยังไง ?

ไม่ว่าธุรกิจออนไลน์จะดำเนินการในรูปแบบส่วนบุคคลหรือนิติบุคคล ก็จะมีโครงสร้างคล้ายกัน คือ การคิดคำนวณค่าภาษีจากรายได้ทั้งหมดของเรา มานำหักค่าใช้จ่ายและนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมาคำนวณภาษี โดยมีวีการคำนวณค่าภาษีธุรกิจออนไลน์ 2 แบบ โดยสามารถเลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่งในการคำนวณภาษีธุรกิจออนไลน์ที่เหมาะกับตนเองได้ คือ

  1. การคำนวณแบบเหมาจ่าย สำหรับผู้ที่มีอาชีพอิสระ สามารถคำนวณภาษีโดย นำรายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย X 0.005 = ค่าภาษีเงินได้ที่จะต้องจ่ายให้กับสรรพากร เช่น  หากในปีมีรายได้ทั้งหมด 2,000,000 บาท  วิธีการคำนวณค่าภาษี คือ 2,000,000 x 0.005 = 10,000 บาท  ในปีนั้น
  2. การคำนวณโดยหักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยจะนำรายได้ทั้งหมดมาหักต่าใช้จ่ายตามจริงก่อนนำไปคำนวณภาษี เจ้าของธุรกิจจะต้องเก็บหลักฐานใบเสร็จรับเงินต่าง ๆ ให้ครบถ้วนเพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานในการหักค่าใช้จ่ายตามข้อกำหนดของกรมสรรพากร โดยจะนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 0% – 35%  หรือ ภาษีเงินได้นิติบุคคลแบบ SME ในอัตรา 0% – 20% ต่อไป

หากต้องเสียภาษีธุรกิจออนไลน์ ร้านค้าออนไลน์ต้องจดทะเบียนหรือไม่ ?

ภาระภาษีที่เหล่าผู้ประกอบการ มีความจำเป็นต้องเกี่ยวข้องมีอยู่หลัก ๆ 2 ตัว คือ ภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีข้อแตกต่างกัน คือ

  • ภาษีเงินได้จะได้มาจากการนำรายได้ทุกอย่างรวมกัน หักค่าใช้จ่ายแล้วมาคำนวณเป็นเงินภาษีที่ต้องจ่ายให้กับสรรพากร ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนผู้เสียภาษี
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มคือภาษีที่คิดจากรายได้จากการขายสินค้าและบริการ สำหรับกิจการที่มีรายได้เกิน 8 ล้านบาทต่อปี จะต้องทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับปี 2562 นี้ จะเป็นปีที่เหล่าผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์จะต้องเริ่มศึกษาและเตรียมตัวกันอย่างจริงจังเจ้าของธุรกิจควรติดตามความคืบหน้าของมาตรการภาษีร้านค้าออนไลน์อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และจะต้องเข้ามาเกี่ยวกับข้องกับผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่ได้   หากเราศึกษามาตรการและข้อยกเว้นต่าง ๆ แล้ว โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในการยื่นภาษีกับสรรพากรก็จะลดน้อยลง  ความเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบย้อนหลังที่จะนำไปสู่การเสียค่าปรับโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็จะลดน้อยลงเช่นกัน