“ภาษี” เรื่องใกล้ตัวที่เข้าใจยากจัง ประชาชนคนไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศชาติครับ แต่จะในรูปแบบไหนก็อีกเรื่องหนึ่งครับ เพราะรูปแบบการเสียภาษีมีหลายอย่าง ผมเชื่อว่าคุณคงเคยได้ยินคำว่า ภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล กันมาบ้าง

ความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างหนึ่งของเถ้าแก่ใหม่คือ “คิดว่าเราทำธุรกิจเล็ก ๆ ในครอบครัวคงไม่ต้องเสียภาษีก็ได้มั๊ง” ทำความเข้าใจใหม่นะครับ ไม่ว่าคุณจะประกอบธุรกิจในรูปแบบไหนก็แล้วแต่ คุณก็ต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลครับ

มาทำความรู้จักกับภาษีที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องทำความเข้าใจไว้ดีกว่าครับ

  1. ภาษีเงินได้

          อันนี้แบ่งให้เห็นง่าย ๆ เป็น 2 รูปแบบครับ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับคนที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ที่ประกอบกิจการด้วยการให้บริการ การผลิต ค้าปลีก ค้าส่ง คุณต้องนำรายได้มาคำนวณเพื่อหักภาษีตามเกณฑ์การประเมิน ซึ่งสามารถหักแบบเหมาจ่าย หรือขอหักตามความจำเป็นตามสมควรได้ รวมทั้งสามารถหักค่าลดหน่อยต่าง ๆ ได้ด้วยครับ

การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะต้องเสียภาษได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมินที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ไม่ว่าในปีนั้น ๆ คุณจะมีผลกำไรหรือขาดทุน

ภาษีนิติบุคคล เป็นภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคล ในรูปแบบบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยกรรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บเพื่อนำส่งรายได้ให้รัฐบาล เก็บในอัตราสูงสุดไม่เกิน 30 % ของกำไรสุทธิ

ซึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประกอบการแบบไหน ต้องยื่นภาษี 2 ครั้งต่อปี จำง่าย ๆ แค่นี้ครับ

บุคคลธรรมดา : แบบภาษีบุคคลธรรมดาครึ่งปีใช้ ภ.ง.ด. 94 และภาษีเงินได้ประจำปีใช้ ภ.ง.ด.90

นิติบุคคล : แบบภาษีเงินได้ครึ่งปีใช้ ภ.ง.ด.51 และภาษีเงินได้ประจำปีใช้ ภ.ง.ด.50

  1. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ชื่อก็บอกอยู่แล้วครับ ว่าหัก ณ ที่จ่าย นั่นก็หมายความว่า ถ้ามีการจ่ายเงินคุณต้องหักเงินไว้จำนวน

หนึ่งเพื่อนำส่งภาษีแทนคนที่ได้รับเงินจากคุณ เช่น คุณจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง ก่อนจ่ายเงินเดือนคุณต้องคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ก่อนแล้วหักออกจากเงินเดือน จากนั้นคุณต้องไปนำส่งสรรพากร เป็นการทยอนจ่ายภาษีไม่ต้องจ่ายภาษีเป็นก้อนใหญ่ทีเดียวตอนปลายปี ส่วนอัตราภาษีที่ต้องหัก ขึ้นอยู่กับว่าคุณจ่ายให้ใคร จ่ายค่าอะไร

สรุปง่าย ๆ นะครับเอาเป็นว่า ถ้าคุณเป็นคนจ่ายเงินให้คนอื่น ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทยอยจ่ายสรรพากร และในทางตรงกันข้ามถ้าคุณเป็นฝ่ายที่ได้รับเงิน คุณเองก็จะได้รับเงินไม่จำนวนเพราะเขาก็ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายก่อนให้คุณเช่นเดียวกัน

ส่วนเงินที่ถูกหักไปจะมีเอกสารรับรองการหัก ณ ที่จ่ายเพื่อให้รู้ว่ามีการหักภาษีแล้วนะ ซึ่งผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สามารถนำเอกสารตัวนี้ไปขอคืนภาษีได้ตอนสิ้นปี

Note : แบบฟอร์มยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่นิยมใช้ขึ้นอยู่กับว่าคุณจ่ายเป็นค่าอะไร

บุคคลธรรมดา : ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3

นิติบุคคล : ภ.ง.ด.53, ภ.ง.ด.54

  1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ตัวนี้ได้ยินกันบ่อย ๆ ใช่ไหมครับ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ VAT ซึ่งอันนี้คือภาษีที่เก็บเพิ่มจากราคาสินค้า

หรือบริการที่คิดกับลูกค้า โดยคุณสามารถจดทะเบียนเข้าไปอยู่ในระบบได้ พอคุณจดทะเบียนแล้ว สินค้าหรือบริการของคุณจะถูกจัดอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม คุณก็มีหน้าที่เพิ่มมูลค่าภาษีเข้าไปในสินค้าจากราคาขาย ปัจจุบันคิดที่อัตรา 7% ซึ่งคุณต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ให้กับสรรพากรในเวลาที่กำหนดนะครับ

  1. ภาษีบำรุงท้องที่

ถ้าคุณเป็นเจ้าของที่ดิน คุณก็จะถูกเก็บภาษีเช่นเดียวกันครับ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล

ซึ่งคุณต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ในเดือนเมษายนของทุกปี

  1. ภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง

อันนี้สำหรับคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับหอพัก ห้องเช่า อพาร์ทเม้น โดยคุณต้องเสียภาษี 12.5% ต่อปีของ

รายได้จากค่าเช่า และคุณต้องชำระภาษีส่วนนี้ที่สำนักงานเขต หรืออำเภอที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

  1. ภาษีป้าย

ถ้าไม่ใช่ป้ายในลักษณะที่ได้รับการยกเว้นคุณต้องเสียภาษีประเภทนี้ในทุก ๆ ป้ายของคุณครับ ไม่ว่าจะ

เป็นป้ายติดหน้าร้าน ป้ายโฆษณา โดยภาษีป้ายจะคิดจากขนาดของป้ายเริ่มต้นที่ 200 บาท ต้องยื่นชำระที่สำนักงานเขต หรืออำเภอที่ตั้งของป้ายภายในเดือนมีนาคมของทุกปีครับ

การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทยทุกคน และเหล่านี้คือภาษีที่เถ้าแก่ใหม่ควรศึกษาไว้ครับ อย่ามองข้ามนะครับ เพราะถ้าถูกจับได้ว่าทำผิดกฎหมาย ไม่จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ย่อมส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของกิจการอย่างมากครับ