การยื่นประกันสังคมให้กับลูกจ้าง ถือเป็นหน้าที่ของนายจ้างตามกฏหมาย ซึ่งหากละเลย ปกปิด ไม่กระทำตามอาจถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย ทำให้สูญเสียทรัพย์สินและเสียเวลาโดยใช่เหตุ

สิทธิประกันสังคมเป็นสวัสดิการสังคมที่ทางรัฐบาลจัดตั้งมาเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับลูกจ้างเอกชน  โดยผู้ที่นายจ้างจะต้องเป็นธุระในการยื่นเอกสารและนำส่งเงินสมทบในส่วนของลูกจ้าง และจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างในจำนวนเท่ากับส่วนของลูกจ้างในทุก ๆ เดือน

การที่นายจ้างไม่ทำการยื่นสิทธิประกันสังคม ไม่นำส่งเงินสมทบ ให้กับลูกจ้างนั้น จริงอยู่ว่าประกันสังคมไม่มีทางรู้ว่าคุณมีลูกจ้างอยู่ในอาณัติ แต่เมื่อใดก็ตามที่ลูกจ้างที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ไปยื่นขอใช้สิทธิประกันสังคม เพราะนึกว่าตัวเองเป็นผู้ประกันตน แล้วไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ มีการร้องเรียนหรือสอบถามไปที่สำนักงานประกันสังคม เมื่อนั้นเจ้าของกิจการมีสิทธิ์งานเข้าได้ง่าย ๆ

กฏหมายขึ้นทะเบียนประกันสังคม สิ่งที่นายจ้างต้องรู้ และต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

  1. ขึ้นทะเบียนนายจ้าง เมื่อมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป
  2. แจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน เมื่อมีการรับคนเข้าทำงานในฐานะลูกจ้าง นายจ้างมีหน้าที่ต้องแจ้งต่อประกันสังคม เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนให้กับลูกจ้างภายใน 30 วัน หลังจากรับลูกจ้างเข้าทำงานในสถานประกอบการ
  3. แจ้งนำชื่อออกจากทะเบียน เมื่อลูกจ้างลาออก นายจ้างมีหน้าที่จะต้องแจ้งต่อประกันสังคมเพื่อนำชื่อลูกจ้างออกจากประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
  4. หักเงินสมทบและนำส่งประกันสังคม นายจ้างมีหน้าที่ในการหักเงินสมทบในอัตราร้อยละ 5 ของเงินเดือน แต่ไม่เกินค่าเฉลี่ยรายได้ 15,000 บาท ในส่วนของลูกจ้างและเป็นธุระในการนำส่งเงินสมทบแทนลูกจ้างทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
  5. นำส่งเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง นายจ้างมีหน้าที่ในการส่งเงินสมทบตามกฏหมายในส่วนของนายจ้างจำนวนเท่ากันกับเงินสมทบในส่วนของลูกจ้าง

นายจ้างไม่ยื่นประกันสังคม ไม่นำส่งเงินสมทบประกันสังคม มีความผิดอย่างไร ? 

1.แจ้งเข้า – แจ้งออก ล่าช้า

  • นายจ้างทำการแจ้งขึ้นทะเบียนให้กับลูกจ้างล่าช้า เกินกว่า 30 วันหลังจากรับเข้าทำงาน มีผลทำให้ประกันสังคมอาจมีการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานเกินสิทธิที่ผู้ประกันตนควรได้รับในกรณีที่ลูกจ้างยังอยู่ในระหว่างการขอรับสิทธิ์ชดเชยรายได้จากการว่างงาน นายจ้างจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
  • แจ้งนำชื่อของลูกจ้างออกล่าช้า เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ทำให้มีผลทำให้ลูกจ้างอาจได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่สามารถยื่นขอรับสิทธิชดเชยรายได้จากการว่างงานได้ เพราะในระบบประกันสังคมยังอยู่ในสถานะของลูกจ้างในสถานประกอบการ นายจ้างจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ไม่นำส่งเงินสมทบประกันสังคม

  • นายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้กับลูกจ้าง นายจ้างจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
  • นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมล่าช้า เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไป นับจากเดือนที่จ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง จะต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน นับจากวันที่ครบกำหนด ยกตัวอย่างเช่น

ค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม นายจ้างจะต้องหักเงินสมทบและนำส่งประกันสังคมภายในวันที่ 15 เมษายน แต่นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมในวันที่ 30 เมษายน ดังนั้นนายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 2 เป็นเวลา 15 วัน (ครึ่งเดือน)

  • นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมไม่ครบถ้วน จะต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินสมทบที่จ่ายขาด

จะยื่นประกันสังคมให้ลูกจ้างต้องทำยังไง ?

สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ ที่ต้องการยื่นสิทธิประกันสังคมให้กับลูกจ้างตามกฏหมาย แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร จะต้องเตรียมอะไรบ้าง จะยุ่งยากหรือเปล่า…การยื่นเอกสารกับประกันสังคมไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด เพียงแค่เรารู้ว่าจะยื่นอะไร ยื่นเมื่อไหร่ ต้องใช้แบบฟอร์มไหนเท่านั้นเอง เพราะในปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ว่าจะยื่นผ่านอินเตอร์เนต หรือจะเดินทางไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคมท้องที่ก็ได้

  1. แบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส. 1-01) ก่อนจะขึ้นทะเบียนลูกจ้าง ก็ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างก่อน ประกันสังคมจะได้รู้ว่าลูกจ้างรายนั้น สังกัดอยู่กับนายจ้างคนไหน
  2. แบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส. 1-03) ในกรณีที่ลูกจ้างที่สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนเป็นครั้งแรก
  3. แบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน สำหรับผู้ที่เคยยื่นแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน สปส.1-03 (สปส. 1-03/1) สำหรับลูกจ้างเคยทำงานกับสถานประกอบการอื่นมาก่อนและได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนอยู่ก่อนแล้ว
  4. แบบแสดงรายการส่งเงินสมทบ (สปส 1-10 ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2) สำหรับการนำส่งเงินสมทบประกันสังคมทุกวันที่ 15 ของเดือน
  5. แบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน (สปส. 6-10) สำหรับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลของลูกจ้าง เช่น การเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล , สถานภาพการสมรส หรือจำนวนบุตร เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริง
  6. หนังสือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส. 6-09) สำหรับแจ้งต่อประกันสังคมในกรณีที่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการแล้ว

กิจการอะไรบ้างที่ไม่ต้องยื่นประกันสังคมให้ลูกจ้าง ?

ไม่ใช่ว่ากิจการทุกประเภทจะต้องยื่นประกันสังคมให้กับลูกจ้าง มีบางประเภทกิจการที่ไม่จำเป็นต้องยื่นประกันสังคมให้กับลูกจ้าง คือ

  1. กิจการเพาะปลูก ประมง  ป่าไม้ และการเลี้ยงสัตว์ ที่เป็นการว่าจ้างตามฤดูกาล หรือเป็นการจ้างเป็นการชั่วคราว
  2. นายจ้างเป็นบุคคลธรรมดา และงานที่ลูกจ้างทำนั้นไม่เกี่ยวข้อกับธุรกิจของนายจ้าง เช่น ลูกจ้างเป็นแม่บ้านทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น
  3. นายจ้างเป็นพ่อค้า / แม่ค้าหาบเร่และแผงลอย เนื่องจากไม่มีสถานประกอบการที่เป็นหลักแหล่ง
  4. ลูกจ้างของสภากาชาดไทย ไม่ต้องยื่นประกันสังคม เพราะได้รับสวัสดิการของรัฐในฐานะลูกจ้างอยู่แล้ว
  5. ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ไม่ต้องยื่นประกันสังคม เพราะได้รับสวัสดิการของรัฐในฐานะลูกจ้างอยู่แล้ว

การยื่นประกันสังคมให้กับลูกจ้าง ถือเป็นหน้าที่ของนายจ้างตามกฏหมาย ซึ่งหากละเลย ปกปิด ไม่กระทำตามอาจถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย ทำให้สูญเสียทรัพย์สินและเสียเวลาโดยใช่เหตุ การที่นายจ้างยื่นประกันสังคมให้กับลูกจ้าง และจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างตามกฏหมาย เท่ากับนายเจ้างเองได้ซื้อสวัสดิการสังคมที่ดีให้กับลูกจ้าง ลดปัญหาภาระการดูแลลูกจ้างเมื่อลูกจ้างเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วไม่มีเงินค่ารักษาจนต้องหันมาหยิบยืมนายจ้างให้วุ่นวาย เพราะลูกจ้างได้รับความคุ้มครองด้านการรักษาพยาบาลจากประกันสังคมแล้ว เป็นต้น

เจ้าของกิจการอย่าคิดว่าการยื่นประกันสังคมให้กับลูกจ้างเป็นเรื่องยุ่งยาก และเป็นค่าใช้จ่ายที่สูญเปล่า เพราะแม้เจ้าของกิจการจะไม่ได้รับผลประโยชน์ในทางตรงเหมือนลูกจ้าง แต่ประกันสังคมก็ได้ปลดภาระในการรับผิดชอบต่อชีวิตและสวัสดิการของลูกจ้างของคุณลงบางส่วนไม่มากก็น้อย

หากคุณเป็นเจ้าของกิจการ ยื่นประกันสังคมให้ลูกจ้างของคุณเถอะค่ะ นอกจากจะไม่เสี่ยงโดนจับ โดนปรับแล้ว คุณยังมีส่วนในการมอบสวัสดิการดี ๆ ด้วยเงินเดือนละไม่กี่ร้อยบาทให้กับลูกจ้างของคุณอีกด้วย