นวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากในยุคปัจจุบัน ภายใต้แนวคิดที่ว่านวัตกรรมที่ตอบโจทย์จะช่วยแก้ไขปัญหาและเป็นลู่ทางสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของผู้ประกอบการไม่น้อยเลยทีเดียว แต่กระนั้นใช่ว่าสิ่งใหม่ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจะถูกขนานนามว่าเป็นนวัตกรรมใหม่เสมอไป เพราะมีสิ่งประดิษฐ์จำนวนไม่น้อยที่มีสถานะเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาในวงกว้างได้อย่างที่ตั้งใจ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวขาดซึ่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับนั่นเอง ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับการนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาใช้ยกระดับผลิตภัณฑ์สู่การแปรรูปเป็นธุรกิจร้อยล้านว่ามีแนวคิดอย่างไร หากพร้อมแล้วเราจะพาไปเรียนรู้และทำความเข้าใจไปด้วยกัน

จุดเริ่มต้นต่อยอดงานวิจัยอย่างไรสู่ธุรกิจร้อยล้าน

คุณรนภัทร ชมภูธัญ กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจปัณปัณณ์ และ Vintec คือผู้ที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวการเปลี่ยนข้อมูลในเชิงงานวิจัยสู่การพัฒนาเป็นธุรกิจน้อยล้านในวันนี้ เดิมทีคุณรนภัทรเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดูแลระบบโรงงานต่าง ๆ ที่ผ่านการร่วมงานกับโรงงานหลากหลายสัญชาติจนกระทั่งผันตัวเองออกมาเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับระบบโรงงาน

จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้คุณรนภัทรหันมาสู่วงการธุรกิจที่ใช้หลักฐานงานวิจัยมารองรับก็คือเมื่อคุณแม่ป่วยและรักษาไม่หายจนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง คุณรนภัทรพยายามมองหาค้นคว้าวิธีการรักษาคุณแม่ด้วยการเริ่มต้นศึกษาค้นคว้างานวิจัยใดบ้างที่มีวิธีการรักษาอาการป่วยของคุณแม่จนกระทั่งเขาได้พบกับงานวิจัยหนึ่งของทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้ทำการติดต่อเข้าไปเพื่อขอคำปรึกษากับอาจารย์ผู้เป็นเจ้าของงานวิจัย พร้อมกับได้รับผลิตภัณฑ์ที่ถูกต่อยอดพัฒนาจากงานวิจัยดังกล่าวมารองใช้กับคุณแม่ดู ผลปรากฎว่าคุณแม่ของคุณรนภัทรมีอาการดีขึ้นภายในระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น เรื่องนี้เองจึงเป็นที่มาให้คุณรนภัทรหันมาทำการศึกษาเกี่ยวกับงานวิจัยและศึกษาต่อจนจบสาขาเภสัชของแพทย์แผนไทยในที่สุด

แนวคิดการต่อยอดงานวิจัยเพื่อสานต่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์

หลังจากผ่านการเรียนรู้ลองผิดลองถูกมาระยะหนึ่งคุณรนภัทรสามารถสรุปแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมจากงานวิจัยได้ดังนี้

– การค้นหางานวิจัยจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องการละเมิดงานวิจัยและวิธีการที่จะนำงานวิจัยมาใช้ได้โดยไม่ละเมิดก็คือการนำงานวิจัยที่หมดอายุความคุ้มครองแล้วมาใช้งานหรือการซื้อสิทธิ์ในการใช้งานวิจัยที่ยังไม่หมดอายุความคุ้มครองนั้น

– การค้นหางานวิจัยเพื่อนำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่เราต้องการนำมาใช้งาน และแนวคิดในการเลือกวัตถุประสงค์ในการนำงานวิจัยมาใช้ที่ดีที่สุดคือการมองหาจาก pain point ของลูกค้าว่าพวกเขามีปัญหาอย่างไรและเราสามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหาพวกเขาได้อย่างไรบ้างและปัญหานั้นมีงานวิจัยอะไรมาตอบโจทย์ปัญหานี้ได้บ้าง แนวคิดเช่นนี้จะทำให้เราสามารถตีกรอบการค้นหาให้แคบลงและตรงกับวัตถุประสงค์ที่เราต้องการได้อย่างแท้จริง

– ไม่เคยมีผลิตภัณฑ์ไหนที่มีพื้นฐานงานวิจัยเพียงงานวิจัยเดียวมารองรับ ยิ่งหากคุณมีพื้นฐานงานวิจัยที่น่าสนใจและมีจำนวนที่เหมาะสมก็จะยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ของคุณมีความน่าสนใจมากขึ้นและยิ่งกว่านั้นคือสามารถนำไปขออนุญาตเพื่อโฆษณาได้เช่นกัน ในเรื่องของการโฆษณาเองก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องระวังเพราะไม่ควรโฆษณาอะไรที่เกินจริงเพราะมีความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายได้เช่นกัน

– ท้ายที่สุดเมื่อคุณได้ผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วคุณจำเป็นต้องรู้จักผลิตภัณฑ์นั้นให้ดีพอว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาอะไรได้ และช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไรเพราะการที่เจ้าของผลิตภัณฑ์เข้าในในผลิตภัณฑ์ของตัวเองเป็นอย่างดีจะช่วยทำให้สินค้านั้นมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในเวลาที่เจ้าของสินค้าได้อธิบายถึงประโยชน์ของสินค้าต่อลูกค้านั่นเอง

สำหรับผู้สนใจที่อยากเริ่มต้นสร้างธุรกิจจากงานวิจัยจะต้องเริ่มต้นอย่างไรดี

สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานอะไรเลยในการทำธุรกิจจากงานวิจัยคุณรนภัทรให้แนวทางที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนเกี่ยวกับคำว่านวัตกรรมก็คือ การสร้างความแตกต่างและต้องตอบโจทย์ โดยคำว่าตอบโจทย์นี้เองคือคีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้รายเล็กสามารถต่อกรกับรายใหญ่ได้ โดยผลิตภัณฑ์ที่คุณต้องการพัฒนาออกมาจะต้องตอบโจทย์ของลูกค้าได้ ช่วยแก้ปัญหาให้กับพวกเขาได้และคุณจำเป็นต้องรู้ด้วยว่าปัญหาที่ลูกค้ากำลังเผชิญอยู่นั้นในปัจจุบันเขามีวิธีการแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร จากนั้นหน้าที่ของคุณก็คือต้องหาว่าคุณจะสร้างความแตกต่างจากวิธีการที่ลูกค้าใช้อยู่ได้อย่างไร เมื่อคุณตีโจทย์ปัญหานี้ได้และเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าคุณจึงจะสามารถสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ได้ ดังนั้นคุณจึงต้องหาลูกค้าที่เหมาะสมกับสินค้าของคุณให้ได้ก่อน และเมื่อคุณเข้าใจลูกค้าของคุณมากพอก็ไม่ยากอีกต่อไปที่จะนำงานวิจัยมาใช้งานและสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์พวกเขา

หากไม่มีงบประมาณจะทำอย่างไรได้บ้าง

หากคุณไม่มีงบที่จะนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในปัจจุบันมีทุนสนับสนุนจากภาครัฐที่กระจายไปตามหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมากมายไม่ว่าจะเป็นทุนงานวิจัย ทุนซื้องานวิจัยรวมถึงทุนในการทำการตลาด แต่กลายเป็นว่าแม้จะมีแหล่งทุนมากมายแต่ผู้ประกอบการกลับไม่ค่อยใช้ประโยชน์จากทุนเหล่านี้เท่าที่ควรซึ่งกลายเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อย หากคุณสนใจก็สามารถติดต่อขอเข้าถึงแหล่งทุนได้ทั้งจากอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หน่วยงานเหล่านี้คือแหล่งเงินทุนที่คุณไม่ควรพลาดในการนำมาต่อยอดงานวิจัยสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้กับลูกค้านั่นเอง

ท้ายที่สุดอย่ามองว่าปัญหาคืออุปสรรคแต่ให้มองว่ามันคือโอกาสสู่ความสำเร็จ

ในช่วงท้ายนี้คุณรนภัทรให้ข้อคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ว่าไม่ควรมองว่าอุปสรรคคือปัญหาแต่ให้มองว่าทุกอุปสรรคคือโอกาส คือแหล่งทองคำที่หากคุณสามารถก้าวข้ามไปได้ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับคุณได้อย่างมากเลย ขอเพียงแค่คุณเข้าใจลูกค้า สามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาให้กับธุรกิจและคุณจะสามารถทำเงินได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้คุณไม่ควรจะประหยัดในสิ่งที่ไม่ควรประหยัดเช่นงบประมาณเกี่ยวกับการทำการตลาด ถ้างบประมาณนี้มาจากการวางแผนแล้วไม่ว่าจะเตรียมไว้เท่าไหร่คุณก็ต้องใช้มันให้มากที่สุด เพราะการตลาดจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ ได้มากทีเดียว

ท้ายที่สุดนี้มีวลีที่น่าสนใจจากคุณรนภัทรก็คือ “100 ไอดอลก็ไม่สู้ 1 I do” เพราะคงไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่คุณจะเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ มากมายแต่กลับไม่ยอมลงมือทำเสียที