ตัวอย่าง Lean Canvas คือเครื่องมือช่วยผู้บริหาร SME Start up เข้าใจภาพรวมองค์กรในเวลารวดเร็ว เหมือนเขียนแผนธุรกิจฉบับย่อ ทำให้ทราบปัจจัยสำคัญครอบคลุมการสร้างธุรกิจเพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจที่สร้างขึ้นมานั้นตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

Lean Canvas คืออะไร ?

Lean Canvas เป็นที่นิยมในการสร้างโมเดลธุรกิจในปัจจุบันเพราะมีข้อมูลครบในหน้าเดียว เข้าใจง่าย ทีมงานช่วยกัน Brain Storm ระดมความคิด มองเห็นภาพรวมธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน

Lean Canvas คล้ายกับ Business Model Canvas ต่างกันตรงที่ Lean Canvas ให้ความสำคัญเรื่อง การค้นหาความต้องการหรือปัญหาที่แท้จริงของลูกค้าเป้าหมาย โดยทดสอบสมมุติฐานที่สร้างขึ้นมากับ  กลุ่มลูกค้าสมมุติ (Persona)

ตัวอย่าง Lean Canvas

สำหรับตัวอย่าง Lean Canvas ประกอบด้วยภาพรวมหลักของธุรกิจ 9 ด้าน ดังรูป

จากรูปสามารถแบ่งตารางออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่

  1. ด้าน Product (สินค้า) ได้แก่ Problem , Solution, Key Metrics และ Cost Structure
  2. ด้าน Market (ตลาด) ได้แก่ Customer Segments, Channels, Unfair Advantage และ Revenue Stream

โดยมี Unique Value Proposition เป็นจุดเชื่อมโยงทั้ง 2 ด้านเข้าด้วยกัน

การเขียนแผนธุรกิจอย่างย่อ Lean Canvas มีขั้นตอนดังนี้

  1. Customer Segments (กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย)

ระบุกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดที่จะเป็นลูกค้าโดยจัดลำดับก่อน-หลัง กลุ่มที่มีโอกาสเป็นลูกค้าจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด โดยระบุเพศช่วงอายุ ระดับการศึกษา พฤติกรรม ความชอบหรือความสนใจให้ชัดเจน

  1. Problems (ปัญหา)

หัวใจหลักของ Lean Canvas วิเคราะห์ปัญหา ความต้องการทั้งหมดของกลุ่มเป้าหมาย ระบุปัญหาหลัก 3 ข้อ ของกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่ามีโอกาสเป็นลูกค้ามากที่สุดโดยเรียงจากปัญหาสำคัญมากไปหาสำคัญน้อย พร้อมนำเสนอทางเลือกอื่นที่ผู้บริโภคใช้ในการตอบสนองความต้องการ หรือ แก้ปัญหาในปัจจุบัน

  1. Solution (วิธีแก้ปัญหา)

นำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาแบบใหม่หลากหลายทางเลือกเพื่อเป็นแนวทางในการผลินสินค้าหรือบริการตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

  1. Unique Value Proposition (คุณค่า จุดเด่นเฉพาะตัว)

ระบุจุดเด่น คุณสมบัติ ประโยชน์ของสินค้าหรือบริการที่ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และเหตุผลที่กลุ่มเป้าหมายต้องตัดสินใจซื้อสินค้าบริการ

  1. Unfair Advantage (ข้อได้เปรียบ)

ระบุข้อได้เปรียบ จุดเด่นของสินค้าหรือบริการ ความโดดเด่นของธุรกิจเหนือคู่แข่ง และเลียนแบบได้ยาก

  1. Channels (ช่องทางติดต่อ)

ระบุช่องทางการประชาสัมพันธ์ การตลาด การจัดส่งทั้ง On Ground On Air หรือ Online ที่สามารถสื่อสารคุณค่า รวมทั้งจำหน่ายสินค้าหรือบริการแก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยการช่องทางเข้าถึงแบ่งออกเป็น 5 ระยะ

  • Awareness สร้างการรับรู้ ให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงสินค้าหรือบริการ
  • Purchase รูปแบบและช่องทางกลุ่มเป้าหมายซื้อสินค้าบริการ
  • Delivery รูปแบบและช่องทางส่งสินค้าบริการ
  • After-sales วิธีการดูแลลูกค้า ช่องทางติดต่อสื่อสาร
  • Evaluation ช่องทางกลุ่มเป้าหมายส่ง  Feedback เพื่อประเมินผลสินค้าบริการ
  1. Revenue Stream (กระแสรายได้)

กำหนดราคาสินค้า บริการ และระบุแหล่งที่มาของรายได้ให้ครบถ้วนเพื่อแสดงถึงกระแสรายรับของธุรกิจ นอกจากนี้ต้องประเมินความมั่นคงของธุรกิจ ประมาณการรายได้ต่อเดือน และระยะเวลาการคืนทุน

  1. Cost Structure (โครงสร้างต้นทุน)

ระบุต้นทุนคงที่และต้นทุนแปรผัน เพื่อเข้าใจโครงสร้างต้นทุนทั้งหมดของธุรกิจ

  1. Key Metrics (ตัวชี้วัดสำคัญ)

ระบุปัจจัย ตัวชี้วัดสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตในอนาคตและการประสบความสำเร็จของธุรกิจ

ประโยชน์ของ Lean Canvas

  1. เข้าใจตลาด

จากการวิเคราะห์ Customer Segments  และ Problems ซึ่งเป็นหัวใจของการทำ Lean Canvas ทำให้เข้าใจความต้องการหรือปัญหาที่แท้จริงของลูกค้าเป้าหมาย สามารถนำเสนอวิธีแก้ปัญหา แนวทางตอบสนองความต้องการรูปแบบใหม่ ๆ ที่เข้ากับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการวิจัยทางการตลาดที่เป็นประโยชน์มาก

  1. เข้าใจสินค้า

ธุรกิจสามารถผลิตสินค้า บริการที่โดดเด่น มีจุดแข็งที่คู่แข่งยากเลียนแบบ และสามารถส่งมอบคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์แก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

  1. เข้าใจช่องทางการทำการตลาด

ธุรกิจจัดวางเครื่องมือเพื่อเชื่อมต่อกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งช่องทางการรับรู้ ช่องทางการซื้อ ช่องทางการจัดส่ง ช่องทางการติดต่อสื่อสารและช่องทางการประเมินผล

  1. เข้าใจภาพรวมธุรกิจ

Lean Canvas ทำให้รู้แหล่งที่มาของรายได้ โครงสร้างต้นทุนซึ่งเป็นรายจ่ายทั้งหมด ทราบเงินลงทุน กำไรต่อเดือน สามารถประเมินความมั่นคงทางธุรกิจและระยะเวลาคืนทุนอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ทำให้เข้าใจปัจจัยและตัวชี้วัดสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ

  1. เข้าใจตัวเอง

เมื่อสร้าง Lean Canvas เสร็จ ผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์ตัวเองอย่างถ่องแท้ว่าเหมาะสมกับธุรกิจที่ต้องการสร้างหรือไม่ รู้จุดแข็งที่สามารถนำมาใช้พัฒนาธุรกิจได้ และเรียนรู้เพิ่มเติมส่วนไหนเพื่อลดจุดอ่อนของตัวเอง

การทำ Lean Canvas เป็นเพียงการแปลงแนวคิดลงสู่กระดาษเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจเบื้องต้นกับกลุ่มลูกค้าสมมุติ ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าสามารถสร้างเป็นธุรกิจได้จริง

ขั้นตอนต่อไปคือพิสูจน์แนวคิดนี้โดยผู้ประกอบการต้องลงพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงที่สุด โดยการทดสอบตลาดเพื่อตรวจสอบสมมติฐานที่ตั้งขึ้นและสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายด้วยคำถามปลายเปิด เช่น

  • ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคิดอย่างไรกับธุรกิจ
  • ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายต้องการสินค้าหรือบริการแบบไหน
  • ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมีโอกาสซื้อสินค้าหรือบริการมากน้อยเพียงใด
  • ความต้องการแท้จริงของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคืออะไร

หลังจากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลโอกาสทำธุรกิจ สรุปความต้องการของตลาดสูงพอที่จะมีกำไรและธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้หรือไม่

หากประมวลผลแล้วเป็นไปได้น้อย ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น

  • กลุ่มเป้าหมายไม่ชัด
  • ลูกค้าไม่มีความต้องการ
  • คู่แข่งเยอะ
  • เงินลงทุนสูง
  • ระยะเวลาคืนทุนนานเกินไป

ผู้ประกอบการต้องกลับไปทบทวน Lean Canvas ใหม่ อย่ายึดติดความคิดเดิม โดยใช้ข้อมูลจากการลงพื้นมาต่อยอด Lean Canvas เพื่อให้โมเดลทางธุรกิจมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จากนั้นลงพื้นที่ซ้ำจนกว่าแน่ใจว่าสามารถสร้างธุรกิจได้ประสบความสำเร็จ

ทั้งผู้บริหารมือใหม่ ผู้ประกอบการ SME หรือกลุ่ม Start up ควรให้ความสำคัญกับ Lean Canvas เพื่อสร้างข้อมูลที่ถูกต้อง ช่วยให้เห็นโมเดลธุรกิจชัดเจนและรวดเร็ว รู้จักเป็นนักวางแผนที่ดีและเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ สามารถนำมาวิเคราะห์ปัญหา ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน เพราะสร้างธุรกิจแต่ละครั้งใช้งบประมาณไม่ใช่น้อย ๆ

ตัวอย่าง Lean Canvas ที่นำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจอาหาร Wechef Thailand

แอพพลิเคชั่น “วีเชฟ (We Chef)” แพลตฟอร์มที่เชื่อมคนชอบการทำอาหาร กับคนที่ต้องการทานอาหารมื้อพิเศษเมนูพิเศษที่หาซื้อจากร้านอาหารทั่วไปไม่ได้ เพราะอาหารจาก We Chef จะเป็นเมนูที่ออกจากครัวของทุกบ้านที่เข้าร่วมเป็น Chef กับ Wechef

การทำ Lean Canvas มาตอบโจทย์ปัญหาคนชอบทำอาหาร แต่ไม่มีร้านค้าเป็นของตัวเอง มาพบกับคนรักการทาน ซึ่งนี่เป็นโมเดลธุรกิจที่เป็นรูปแบบ Sharing Economy หรือแบ่งปันทรัพยากร ซึ่งในที่นี้ก็คือ “ครัว” ของแต่ละบ้านนั่นเอง

คุณ วินิจ ลิ่มเจริญ” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท วีเชฟ (ไทยแลนด์) จำกัด ชายผู้รักการทำอาหารเป็นงานอดิเรก คือ SME ที่สามารถนำ Lean Canvas มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจในยุคปัจจุบัน เพื่อให้อยู่รอดและเติบโตต่อไปในอนาคต

คุณเองก็สามารถที่จะนำ Lean Canvas มาประยุกต์ใช้ในการ Transform ธุรกิจเพื่อให้อยู่รอดในยุค Digital disruption ในปัจจุบัน หากเข้าใจถึงปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเอาชนะปัญหาเหล่านั้นได้…

ได้เวลาที่จะนำ Lean Canvas มาประยุกต์ใช้กันแล้ว !!!