หลักฐานที่ใช้แสดงต่อสรรพากร ทั้งใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบของค่าโฆษณาที่จ่าย และเอกสารช่องทางในการชำระเงินให้กับทาง Facebook หรือ Google ทั้งนี้ Facebook และ Google มีบริการนี้รองรับอยู่แล้ว สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์

อาชีพที่มีการสร้างรายได้ย่อมมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเสมอ ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคำนวณภาษี และสิทธิประโยชน์ของภาษีเงินได้ทั้งแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งการหักค่าใช้จ่ายสามารถทำได้ตามเหมาะสมในแต่ละประเภทของเงินได้ตามที่กฎหมายกำหนด หากค่าใช้จ่ายนั้นไม่มีกฎหมายรับรองก็จะหักค่าใช้จ่ายไม่ได้ แม้ว่าเราจะจ่ายไปจริงก็ตาม เช่นเดียวกับการซื้อโฆษณาทางออนไลน์ใน Facebook หรือ Google เพื่อผลประกอบการทางธุรกิจ เป็นวิธีที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ในราคาที่สามารถจับต้องได้ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า แล้วอย่างนี้จัดเป็นรายจ่ายธุรกิจได้หรือไม่ และสามารถทำบัญชีนำส่งสรรพากรได้อย่างไร

จ่ายเงินค่าโฆษณาให้ Facebook กับ Google เป็นรายจ่ายธุรกิจได้หรือไม่

ก่อนอื่นต้องดูว่ารูปแบบของธุรกิจเป็นแบบใด หากเป็นบุคคลธรรมดาแล้วเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาตามอัตราที่กฎหมายกำหนด รายจ่ายค่าโฆษณาจะไม่สามารถใช้เป็นค่าใช้จ่ายได้ เพราะรวมอยู่ในอัตราเหมาไปเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าหากเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง แบบนี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งจะต้องขอใบกำกับภาษีรูปแบบเต็มจาก Facebook หรือ Google เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นต่อสรรพากร

ในส่วนของนิติบุคคลก็สามารถใช้เป็นรายจ่ายของธุรกิจได้ เนื่องจากเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 และต้องเป็นการจ่ายจริงที่เกี่ยวข้องกับกิจการ เพื่อมุ่งหวังในการเพิ่มยอดขาย เพิ่มกลุ่มลูกค้าในประเทศ ห้ามเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว ที่สำคัญสำหรับทั้งสองรูปแบบธุรกิจคือ จะต้องมีเอกสารแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายให้ชัดเจนครบถ้วน

บัญชีค่าใช้จ่ายในการลงโฆษณา Facebook กับ Google นำส่งสรรพากรได้อย่างไร

  • มีหลักฐานชัดเจน และพิสูจน์ได้

หลักฐานที่ใช้แสดงต่อสรรพากร ทั้งใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบของค่าโฆษณาที่จ่าย และเอกสารช่องทางในการชำระเงินให้กับทาง Facebook หรือ Google ทั้งนี้ Facebook และ Google มีบริการนี้รองรับอยู่แล้ว สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ การจ่ายเงินโดยส่วนใหญ่มักใช้บัตรเครดิต ซึ่งถ้าใช้เป็นบัตรเครดิตของนิติบุคคลบริษัทก็จะสามารถตรวจสอบได้ง่ายและสะดวก แต่หากใช้บัตรเครดิตส่วนตัวของพนักงานหรือกรรมการบริษัท ก็สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้เช่นกัน แม้ว่าใบเสร็จที่ได้รับจะเป็นชื่อของพนักงานหรือกรรมการก็ตาม ซึ่งต้องมีความชัดเจนในชื่อบัญชีที่เป็นผู้รับเงินว่าเป็น Facebook หรือ Google และต้องแนบเอกสารทำสรุปรายการเบิกจ่าย โดยอ้างอิงจากหลักฐานในการจ่ายเงินของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น Statement บัตรเครดิตของพนักงานหรือกรรมการ เพื่อให้สามารถพิสูจน์หลักฐานช่องทางการชำระเงินตามที่ระบุไว้ว่าจ่ายค่าอะไร มีค่าโฆษณาส่วนไหน แคมเปญใดบ้าง

  • ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือไม่

แนวทางปฏิบัติด้านภาษีอย่างถูกต้องที่ทุกคนทราบกันดีคือ ต้องขอใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ เพื่อใช้ประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ เช่น การขอคืนภาษีซื้อ แต่ถ้าเป็นบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศจะมีหลักปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง ตามหลักแล้วนั้น Facebook หรือ Google ต้องมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทย แต่เนื่องด้วยปัญหากฎหมายยังไม่ครอบคลุมถึงการซื้อขายสินค้าและบริการต่างประเทศ กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้จ่ายเงินเป็นคนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ให้บริการในต่างประเทศ โดยยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)  โดยคิดยอด 7% ของค่าโฆษณาที่จ่ายไป เช่น ค่าโฆษณา 15,000 บาท จะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,050 บาท จะต้องยื่นภายใน 7 วันนับตั้งแต่สิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายค่าใช้จ่ายนั้นไป แล้วจะได้ใบเสร็จรับเงินจากทางกรมสรรพากร ที่สามารถเอามาเป็นภาษีซื้อในเดือนถัดไปได้ หากไม่ทำการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วมีการตรวจสอบเกิดขึ้น อาจจะมีส่วนหนึ่งที่ต้องเสียเพิ่มนอกจากภาษีนั่นคือ เงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือน ในส่วนของเงินเพิ่มนี้ไม่สามารถถือเป็นรายจ่ายของบริษัทได้ เพราะถือว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามกฎหมาย ดังนั้นดำเนินการเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการทำธุรกิจ

  • ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือเปล่า

ไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย เพราะกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายนั่นเอง (เงินได้ค่าโฆษณาถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ไม่ระบุไว้ถือว่าไม่ต้องหัก กฎหมายบังคับให้หัก ณ ที่จ่าย เฉพาะ 40(2)-(6) เท่านั้น

มาตรา 70 :  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2)(3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี   โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้นทั้งนี้ ให้นำมาตรา 54 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

นอกเหนือจากการโฆษณาผ่านทาง Facebook และ Google แล้ว วิธีนี้สามารถทำได้กับค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้กับบริษัทในต่างประเทศได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น instagram , web service ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษี ที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านออนไลน์ที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะสามารถจัดเก็บภาษีได้สอดคล้องกับธุรกิจแต่ละประเภท แต่ในเรื่องของกฎหมายดูเหมือนว่าอาจจะยังก้าวตามไม่ทันเทคโนโลยี และไม่ครอบคลุมธุรกรรมทั้งหมดของการค้าขายออนไลน์ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเองจึงควรรู้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับด้านนี้ และหมั่นอัพเดตข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ก็เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับสรรพากรให้น้อยที่สุด และยังเป็นการช่วยรักษาผลประโยชน์ให้แก่ธุรกิจอีกด้วย