ผมมีโอกาสได้รู้จักพี่เก๋ มาปีกว่า ตอนนั้นเราได้มีโอกาสเรียนคอร์สสัมมนาเกี่ยวกับ การทำ Blog ด้วยกันครับ มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันผ่านทาง Line เรื่อยมา

พี่เก๋ ออกจากงานประจำมาทำธุรกิจส่วนตัว ผมก็มีโอกาสเป็นลูกค้า การ์ตูน Taokaemai.com นี่ก็เป็นฝีมีพี่เก๋ครับ

ทาบทามอยู่เป็นปีครับเพื่อให้พี่เก๋ ได้มาบอกเล่า ความเป็นมาธุรกิจ และ ส่งต่อแรงบันดาลใจ วิธีการทำธุรกิจ ของคนที่คิดว่า “อายุ ไม่ใช่ปัญหา ที่จะก้าวขาออกมาทำธุรกิจตัวเอง”

นี่เป็นอีกก้าวสำคัญ ครับ สำหรับ ผู้หญิงคนนี้ พี่สาวที่ใจดีเสมอ กับเถ้าแก่ใหม่

พี่เก๋ แนะนำตัวกับน้อง ๆ ได้เลยครับ

dd2

สวัสดีคะชื่อ“เก๋” (นาราศิริ อรรถจินดา) อาชีพ Creative Entrepreneur ปัจจุบันวาดการ์ตูน มีแบรนด์ของตัวเองชื่อ Moody’s Village

*Moody’s Village เป็นหมู่บ้านของตัวการ์ตูนซึ่งมีคาแรคเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์คือหน้าบึ้งหน้าบูดๆมู้ดดี้ๆหน้าอมตุ่ยที่นี่แม้แต่ต้นไม้ยังหน้าบึ้งเลยนะการ์ตูนแต่ละตัวจะมี Story มีนิสัยและความชอบต่างกันด้วย

*Moody’s Village ขายเรื่องราวขายคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนปัจจุบันสินค้าที่ผลิตออกมาจะเป็นเคสมือถือแก้วมัคและ LINE Sticker (Moody’s Village)

ก่อนหน้าทำงานประจำสถาบันการเงินมานานเลย

ใช่คะ พี่จบตรงสาย Insurance มาจากคณะบัญชี-สถิติ จุฬา และทำงานด้านประกันภัยกับบริษัทประกันภัยและสถาบันการเงินมาโดยตลอด20 ปี

จุดอิ่มตัวงานประจำ ทำให้คิดก้าวออกมาทำธุรกิจส่วนตัว

อิ่มตัวล่ะผ่านทั้งองค์กรใหญ่องค์กรเล็ก ก็มีข้อดีข้อเสียต่างๆกันไป แต่พอมันทับถมกันนานๆก็รู้สึกอิ่มตัว ไปต่อไม่ได้แล้ว มีหลายอย่างที่เจอ มีทั้งความร่วมมือ ความขัดแย้ง มีการประสานงานและมีทั้งการแย่งผลประโยชน์ … ก็เลยตัดสินใจวางมือและขอผ่านการทำงานกับองค์กร เดินออกมาทำงานใน Field ปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของ Moody’s Village

dd3

เริ่มมาจากความชอบส่วนตัวชอบวาดรูปชอบงาน Handicraft อยากทำ Brand สินค้าของตัวเอง ผลิตสินค้าออกมาแล้วขายได้เช่น เอาการ์ตูนที่วาดมาทำเป็นเคสมือถือ ส่วนเงินทุนก็ใช้จากเงินเก็บของตัวเองนี่แหล่ะ

เริ่มแรกก็เจอปัญหาแล้ว

อุปสรรคคือวาดไม่ได้ซะงั้น คือเริ่มต้นปุ๊บก็วิกฤติเลย เนื่องจากเริ่มต้นแบบคนที่พอมีพื้นฐานการวาดรูป แต่เราก็ไม่ใช่เทพที่หยิบดินสอปากกาแล้วเสกออกมาเป็นการ์ตูนน่ารักๆได้เลย วาดแล้วก็ติดขัด ใช้เวลานาน เกิดความเครียด กังวล กลายเป็นว่าวาดการ์ตูนแล้วไม่สนุกไม่ไหลลื่นอย่างที่คิด บางทีวาดออกมาได้ แต่พอเอาไปอบเป็นเคสมือถืองานก็เสียต้องทิ้ง มีของเสียในการผลิต ขาดทุน ติดกับกับอุปสรรคอยู่หลายเดือน เงินลงทุนที่ไปซื้อเครื่องมาอบเคสก็หลายสตางค์ ก็เริ่มไม่สนุก

ออกอาการที่เรียกว่า “ซึมๆอึนๆ” ไป 2-3 เดือน วันนึงรวบรวมแรงใจ ฮึดขึ้นมาตัดสินใจว่า เอาใหม่! ลองใหม่! ถ้าทำเองแล้วมันไม่คืบหน้าคงต้องไปเรียนไปหาความรู้เพิ่ม ก็ไปหาที่เรียน เรียนทั้งการวาดการ์ตูน (วาดมือ) และไปเรียนการใช้พวกโปรแกรมกราฟฟิก (วาดคอมพิวเตอร์) เรียนอยู่พักนึง โชคดีได้อาจารย์ดี เลยพัฒนาฝีมือไปได้เร็ว เรียกว่าปลดล็อคไปได้หนึ่งเวลาว่างั้นเลย

 กลุ่มลูกค้า ของ Moody’s Village คือใคร

หาคนที่ชอบเหมือนกันงานพวก Cartoon หรือ Handicraft จะว่ายากก็ยากเพราะกว่าจะหาคนที่ชอบงานสไตล์เราเจอก็เหนื่อยยิ่งเราผลิตงานใหม่ๆออกมาบางทีก็ไม่แน่ใจว่าจะมีคนชอบไหมแต่คิดอีกมุมก็เหมือนง่ายเพราะถ้าเจอคนที่ชอบเหมือนๆกันนี่ดีมากๆเลยเพราะเขาจะช่วยส่งต่อและ Refer ลูกค้าให้อีก คราวนี้วิ่งฉิวเลย

การเข้าถึงกลุ่มคนนี่ตัวเราเองอาจจะไม่ถนัดการไปตั้งร้านจริงๆในกลุ่มคน เพราะเป็นคนไม่ชอบเฝ้าร้าน ถนัดการหาลูกค้าทางออนไลน์มากกว่า ซึ่งปัจจุบันการใช้ Ad ผ่าน FB นี่สามารถเลือกกลุ่มคนที่มีความชอบในเรื่องใดๆได้เลยนะ

 ช่องทางจำหน่ายปัจจุบัน

On-line ล้วนๆ ไม่มีหน้าร้าน จะบอกว่าไม่ได้สัมผัสกับลูกค้าก็ไม่ใช่นะ เพราะได้พูดคุยผ่านการแชท เรามีโอกาสสอบถามพูดคุยว่าเขาอยากได้ตัวการ์ตูนมู้ดแบบไหนไปเป็นเคสมือถือหรือแก้วมัค แลกเปลี่ยนความคิดเห็น บางทีเห็นตัวตนกันชัดๆเลยนะ รู้ว่าเป็นใคร ชอบอะไร ซื้อให้ใคร กลายเป็นบางคนซื้อของกันจบแล้ว แต่กลายเป็นเพื่อนกันก็มี มันต่างกับการขายแบบเดิมที่เราเอาของไปฝากขายตาม Modern Trade นะ อันนั้นแทบไม่รู้เลยว่าลูกค้าเป็นใคร รู้แต่ว่าสินค้าใดขายได้ไม่ได้

dd4

สถานที่สร้างสรรค์งาน ก็เรียกซะโก้เลยว่า Gallery Under The Sky หรือที่ย่อๆว่า GUTS ก็เป็น Workspace ชั้นล่างของบ้านเอาไว้ทำงานการ์ตูน ทำเคสมือถือ ทำแก้วมัค ทำพวกงาน Handicraft แต่พักหลังๆที่เริ่มได้มีโอกาสออกรายการทีวี ก็เริ่มจะมีเพื่อนๆ น้องๆ มานั่งรวมตัวฝึกมือเรื่องวาดรูปกันหลายครั้ง ล่าสุดกำลังจะมีโอกาสได้เปิดWorkshop ของ Moody’s Village (Character on Mug Workshop @BonGalleria, Bon Mache) ครั้งแรกในเดือนมกราคมนี้ คิดว่าสนุกแน่นอน

อะไรทำให้ Moody’s Village เป็นที่รู้จักถึงวันนี้ และได้ออกรายการทีวีมากมาย

               การทำในสิ่งที่ลูกค้าชอบซึ่งเมื่อลูกค้าชอบงานของเรามันก็ไม่หยุดแค่ที่ลูกค้าเท่านั้นงานของเราจะถูกส่งต่อไปให้เพื่อนๆของลูกค้าด้วย

อีกข้อหนึ่งคือการสร้างStory เพื่อเชื่อมโยงให้ตัวการ์ตูนมีชีวิตและโลดแล่นได้ในทุกEvent กับเรา จนลูกค้าสัมผัสได้

 10.หลักในการบริหารคนในองค์กร เป็นไปลักษณะแบบไหน

ปัจจุบันไม่ต้องบริหารทีมงานแล้ว บริหารการ์ตูนและอารมณ์ของตัวเราเองอย่างเดียวให้มีการพัฒนาและสนุกกับงานอยู่เรื่อยๆให้คิดเรื่องใหม่ๆต่อยอดธุรกิจไปได้ไกลๆ

ส่วนเรื่องการบริหารคนจะเป็นการบริหารลูกค้าคือติดต่อสื่อสารกับลูกค้าว่าได้ของที่ถูกใจและชอบแล้วหรือยัง

การตลาดแบบ “รากหญ้า” ในความเห็นของพี่เก๋ เป็นอย่างไร

รากหญ้า คือ คน ไม่ใช่องค์กร การทำ Marketing ก็จะมองเป็นเรื่องของการ “เข้าถึงความต้องการความชอบของคน ของลูกค้า”มากกว่า และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาตอนนี้การ์ตูนไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่กลุ่มเด็กเท่านั้น การมาของ LINE Sticker ที่คุณปู่คุณย่า รวมถึงนักธุรกิจที่เคร่งเครียดก็รักที่จะส่งตัวการ์ตูนหน้าตาตลกๆหากัน การ์ตูนเลยเป็นเรื่องที่ไม่มีพรมแดน Moody’s Village เองก็มีพื้นที่ให้เข้าไปใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ทั้ง LINE Sticker หรือ ไปอยู่บนเคสมือถือที่ติดตัวกับเรากลายเป็นอวัยวะที่ 33 ไปแล้ว

 มองแผนอนาคตไว้อย่างไร

dd555

จริงๆตอนตั้งต้นเรื่องนี้ก็แพลนว่าอยากขายเป็นแบบ Digital เราวาดการ์ตูน เราขายคาแรคเตอร์ ขาย Story ของ Moody’s Village

เพียงแต่ในไทยการขายเป็น Digital มันยังจับต้องไม่ได้ เราเลยเริ่มเอาการ์ตูนลงไปแปะในเคสมือถือ เพราะมันอยู่ติดตัวเกือบ 24 ชั่วโมง แปะลงไปบนแก้วมัค แปะลงไปบนของใช้ประจำวัน เพื่อให้ตัวการ์ตูนของ Moody’s Village ได้มีเวลาอยู่ใกล้ชิดลูกค้า

แผนสำหรับปีนี้คือขยายตลาดไปในต่างประเทศและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น และมองเรื่องลิขสิทธิ์อย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เพราะมองว่าธุรกิจการ์ตูนสามารถสร้าง Passive Income ให้เราได้

ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ หน่อยครับ

บางอย่างต้องเชื่อ Guts Feeling ของตัวเอง เสียงของคนรอบข้าง เขาหวังดีกับคุณก็จริง แต่ Believe มันผิดกัน ถ้าเรามั่นใจ และไตร่ตรองรอบคอบแล้วก็ลุยเลยเถอะ แต่ต้องอดทนด้วยนะ เพราะผลลัพธ์มันไม่ได้มาภายในชั่วข้ามคืน

 ช่องทางติดต่อ

dd666

www.MoodysVillage.com

FB: Moody’s Village

LINE ID: gutsgaye

(m)081-819-7629

eMail: [email protected]

เถ้าแก่ใหม่วิเคราะห์ธุรกิจ

งาน Handicraft หรืองาน Handmade ต้องใช้ฝีมือ เท่านั้นยังไม่พอครับต้องมี “ความรัก” เป็นแม่เหล็กตัวนำ ไม่อย่างนั้นงานไม่เกิดครับ

ธุรกิจประเภทนี้ ใจต้องรักจริง อดทนจริง ราคาสินค้ามักจะขึ้นอยู่กับ “คุณค่า” ที่เราใส่ไปในสินค้านั้น งานฝีมือ คือคำตอบครับ

ยิ่งเราได้เติบความคิดสร้างสรรค์ Creative Thinking ลงไปอีก สามารถรังสรรค์ สินค้าใหม่ได้อีกมากมายทีเดียวครับ ขอเพียง เปิดตลาดให้ได้ ที่เหลือ รอส่งงานให้กับลูกค้าครับ

อาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เคยกล่าวไว้ว่า “ทุกอาชีพ ไม่มีไส้แห้ง”  ในความหมายนี้คือ เราต้อง “ขาย” เป็นและ “ทำการตลาด” เป็น ลำพังแค่ ทำ ทำ ทำ อย่างเดียว ไม่สนใจเรื่อง การตลาด แล้วละก็ลำบากครับ

และตลาดที่ต้องทำก่อนคือ “ทำการตลาดให้กับตัวเราเอง”