ผลผลิตทางการเกษตรเมื่อถูกนำมาพัฒนาต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นอาหารทานเล่น ผลิตภัณฑ์ความงาม ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ สร้างความน่าสนใจไม่น้อยและเพิ่มมูลค่าได้อย่างมาก เช่นเดียวกับแขกรับเชิญท่านนี้ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ เริ่มต้นจากการเพาะปลูกเห็ดฟางสู่การเพาะเลี้ยงถั่งเช่าด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ จนสามารถสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตนเอง คุณนพดล สุภาหาญ เกษตรกรจังหวัดลำพูน เจ้าของกิจการ ฟาร์มเห็ดบ้านโฮ่งลำพูน

จากช่างไฟสู่วิถีเกษตรกร

คุณนพดลเรียนจบทางสายช่างเกี่ยวกับไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ ก่อนหน้านี้เป็นพนักงานประจำทำงานที่โรงงานในจังหวัดเชียงใหม่นานถึง 35 ปี จึงอยากที่จะกลับบ้านที่จังหวัดลำพูนเพื่อดูแลคุณแม่ ซึ่งกำลังเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ในตอนนั้นคุณนพดลได้ปรึกษากับคนรักว่าจะทำอาชีพอะไรดีที่ตอบโจทย์และสามารถดูแลคุณแม่ไปด้วย ความชื่นชอบในการรับประทานเห็ด จึงเกิดเป็นไอเดียในการทำฟาร์มเห็ดนางฟ้าขึ้นมา ด้วยเงินลงทุนจำนวนหนึ่งในการสร้างโรงเพาะเห็ดจำนวน 3 โรงเต็มเนื้อที่บริเวณบ้าน

อีกเหตุผลที่ตัดสินเพาะเห็ดนางฟ้า เนื่องจากคุณนพดลเห็นช่องทางการขายซึ่งก็คือ ตลาดแถวบ้าน ประกอบกับเห็ดนางฟ้าสามารถนำไปประกอบอาหารและแปรรูปได้ค่อนข้างหลากหลาย จากการลงทุนลงแรงในการเพาะเห็นนางฟ้า 1 ปีเต็ม จนเข้าสู่ปีที่ 2 วัสดุที่ใช้ทำโรงเพาะเห็ดเริ่มเสื่อมสภาพ การที่จะหมุนเวียนก้อนเห็ดนางฟ้าเข้ามาใหม่

สำหรับคุณนพดลนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร บวกกับราคาเห็ดนางฟ้าในช่วงนั้นค่อนข้างต่ำ การขายส่งที่ต้องรอให้แม่ค้าพ่อค้ามารับถึงบ้าน จึงคิดว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป คงไม่สามารถหาเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อมาขยับขยายธุรกิจที่ทำอยู่ได้

จึงปรึกษากับคนรักว่า ควรจะผันตัวมาเป็นผู้ผลิตอย่างจริงจัง อยากที่จะผลิตก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าโดยที่ไม่ต้องไปซื้อ คุณนพดลตัดสินใจเรียนวิชาการเพาะเห็ดจากผู้ที่ประสบความสำเร็จหลายท่านแล้วมาปรับปรุงให้เป็นแนวทางของตัวเอง เมื่อทำก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าได้เองจึงเริ่มผลิตเพื่อจำหน่าย แม้รายได้เริ่มดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครอบครัว คุณนพดลคิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ จึงต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงจากการเพาะเห็ดขาย มาเป็นการเพาะเห็ดให้เป็นยา

ระยะเวลา 5 ปีของการเดินทางสายเกษตร กับความรู้ที่เเริ่มต้นจากศูนย์

“เห็ดถั่งเช่า” หรือที่เรียกกันว่า “หญ้าหนอน” กลายมาเป็นตัวเลือกที่สนใจ แต่เงื่อนไขมีอยู่ว่าโดยส่วนตัวคุณนพดลไม่ชอบแมลง ซึ่งถั่งเช่าที่ใช้ทำเป็นยาก็คือ ตัวหนอนและเห็ดที่แห้งแล้วนั่นเอง จากการที่ได้ไปอบรมเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองและได้ฝึกทดลองเอง

คุณนพดลเกิดไอเดียขึ้นว่าตัวหนอนเป็นแหล่งของโปรตีน ถ้าไม่ต้องการให้มีหนอนเป็นส่วนประกอบของถั่งเช่า จะสามารถหาอะไรมาทดแทนในการเพาะเลี้ยงได้หรือไม่ จากคำถามนี้จึงนำไปสู่การทดลองในการหาโปรตีนจากพืชเข้ามาทดแทน เช่น ข้าวโพด ข้าวกล้อง มันฝรั่ง เป็นต้น ซึ่งพืชที่นำมาใช้ในกระบวนการเพาะเลี้ยงต้องเป็นพืชเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด ไม่ใช้อาหารสังเคราะห์เคมี แม้แต่น้ำตาลที่นำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงก็ต้องเป็นอินทรีย์

จากนั้นนำผลผลิตที่ได้ไปส่งตรวจหาสารสำคัญที่มีเฉพาะในถั่งเช่า เมื่อได้ผลการตรวจว่าการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าด้วยวิธีนี้ยังคงได้สารสำคัญ และเป็นการผลิตแบบอินทรีย์ คุณนพดลจึงตัดสินใจก่อสร้างอาคารสำหรับเพาะเลี้ยงถั่งเช่าขึ้นมาแทนที่กิจการเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้า ทั้งที่ตอนนั้นยังมีรายได้ไม่แน่นอน ในระหว่างที่กำลังก่อสร้างโรงเรือนใหม่สำหรับเพาะเลี้ยงถั่งเช่า ได้มีการยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ปี

นอกจากนี้คุณนพดลยังเป็น Young Smart Farmer หรือเกษตรรุ่นใหม่ ของจังหวัดลำพูน เมื่อได้ทราบข่าวประกาศรับสมัครทุนวิจัยจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน)  (สกว.) จึงได้สมัครเพื่อขอรับทุน ระหว่างที่เรียนอยู่นั้นคุณนพดลได้รู้จักกับผู้คนในแวดวงเกษตร อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้ และหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ ได้ออกบูธงานแสดงสินค้าที่ทาง สกว. จัดขึ้น การเรียนในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ได้รับความรู้ทางการเกษตรเท่านั้น ยังเป็นช่องทางในการได้รับโอกาสที่ดีในการทำธุรกิจอีกด้วย ถั่งเช่าที่ผลิตได้ผ่านการตรวจพิสูจน์จากทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้รับการรับรองว่าเป็นถั่งเช่าสีทองแท้และมีสารสำคัญที่พบในถั่งเช่าชนิดนี้

เมื่อผลิตได้แล้ว จะขายอย่างไร ทำการตลาดแบบไหน

ก่อนที่จะตัดสินใจอย่างแน่วแน่เปลี่ยนจากการเพาะเห็ดนางฟ้ามาเป็นถั่งเช่า คุณนพดลได้วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของเส้นทางนี้ มีตลาดรองรับหรือไม่ หากผลิตได้ ก็ต้องขายเป็น และที่สำคัญคือ สินค้าของเราต้องได้มาตรฐานในการผลิต มีการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคและสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าของตัวเอง

ปัจจุบันผลผลิตหลักของฟาร์มคือ เห็ดถั่งเช่าสีทอง ออแกนิกส์ ที่ไม่ใช้แมลงเป็นส่วนประกอบ ไม่ใช้อาหารเพาะเลี้ยงที่มาจากสารสังเคราะห์ทางเคมี และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเห็ดถั่งเช่า ในส่วนของโรงเรือนผลิตและอาคารสำหรับแปรรูป มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต ต้นทุนไม่สูง ใช้งานได้จริง ดูแลรักษาง่าย ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น จึงไม่ต้องจ้างแรงงานประจำ

ช่องทางการจำหน่ายสินค้าเริ่มจากการออกบูธตามงานแสดงสินค้าจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ชา ภายในบูธจะมีการชงชาให้ลูกค้าได้ทดลองชิม กลิ่นหอมของชาช่วยดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้ ช่วยให้ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น อย่างในช่วงโควิดที่ไม่สามารถออกบูธได้ ส่งผลให้รายได้ลดลงไปเยอะ แต่ก็มีลูกค้าประจำที่ยังติดต่อซื้อขายกันอยู่

ลูกค้าบางส่วนได้จากการลงโฆษณาของหน่วยงานเกษตร ซึ่งเป็นช่องทางที่มีความน่าเชื่อถือ และใช้ช่องทางออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์ธุรกิจให้เป็นที่รู้จักของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น Facebook Page, SHOPEE  และ LAZADA แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถโฆษณาในเชิงสรรพคุณได้ จึงต้องระมัดระวังในส่วนนี้เช่นกัน

ในอนาคตคุณนพดลมีแผนว่าจะสร้างผลิตภัณฑ์ตัวรองโดยใช้สมุนไพรหลักเป็นตัวอื่นและเสริมด้วยถั่งเช่า สำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นทำธุรกิจเกษตร คุณนพดล ให้คำแนะนำว่า ลองเลือกสินค้าเกษตรในท้องถิ่น ผลิตด้วยคุณภาพ มีความจริงใจ ใส่ใจความสะอาด ช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย สร้างตัวตนของเราผ่านทางสินค้าให้ได้ แน่นอนว่าการทำธุรกิจต้องเจอกับปัญหาอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่อย่าเพิ่งท้อ ชะลอเรื่องการลงทุน ลดค่าใช้จ่าย ใช้ช่องทางออนไลน์ในการโปรโมทและจัดจำหน่ายสินค้า

สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์

การที่ผู้ประกอบการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ มองหาลู่ทางในการต่อยอดสินค้าให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม แม้ช่วงแรกต้องอาศัยระยะเวลาและความอดทน หากสินค้าดีมีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทำการตลาดโดนใจ บวกกับองค์ประกอบอื่นๆ ที่วางแผนมาแล้วอย่างดี ช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตและแข่งขันได้ สอบถามพูดคุยกับคุณ นพดล เรื่องถั่งเช่าเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/lamphuncordyceps