ขึ้นค่าแรง 600 บาท มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร

กลายเป็นประเด็นที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ในขณะนี้ เมื่อพรรคเพื่อไทยเปิด 10 นโยบายสู้ศึกเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจภายในปี 2570  “เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน” ทำให้เกิดเสียงวิพากย์วิจารณ์ต่างๆ นานา ผู้ประกอบการหลายคนอาจเกิดความกังวลว่า การเพิ่มขึ้นของค่าแรงจะเป็นภาระหรือไม่ ในส่วนของผู้ใช้แรงงาน นี่จะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ มาดูกันว่า ในมุมของลูกจ้างและผู้ประกอบการ SME หากปรับค่าแรงเพิ่มขึ้น จะรับมือกับประเด็นนี้อย่างไร

สถานการณ์ฐานค่าแรงปัจจุบัน

สินเชื่อ SME กล้าให้

ในยุคที่อะไรๆ ก็ขึ้น ยกเว้น “ค่าแรง” ปัญหาสภาพเศรษฐกิจตอนนี้คือ อัตราเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นเร็วกว่าอัตราการเติบโตของรายได้ ที่ทุกอย่างราคาแพงนั้นก็มีหลายปัจจัย แต่การที่ของมันแพงกว่าความเป็นจริง ค่าครองชีพสูงขึ้นหลายเท่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคดีดตัวสูงขึ้น นั่นเป็นเพราะอะไร? ซึ่งประเด็นนี้จะขอวางไว้ก่อน มาดูสถานการณ์ค่าแรงปัจจุบันกันว่า ค่าแรงขั้นต่ำทุกวันนี้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายรายวันหรือไม่? นับตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำทั้งหมด 4 ครั้ง ในรอบ 10 ปี และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานไทยเพิ่มขึ้นเพียง 13 – 36  บาท/วัน ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ค่าแรงไม่ได้เพิ่มอย่างต่อเนื่องในระดับที่สามารถเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้ แม้แต่การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพียงแค่ให้เท่ากับค่าครองชีพก็ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ส่วนภาคธุรกิจก็กำลังแบกรับสภาพความไม่เติบโตของเศรษฐกิจ และต้นทุนในส่วนที่ไม่ใช่ค่าแรงสูงกว่าที่ควร

ในส่วนของการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้ถึง 600 บาท จัดว่าเป็นอุดมการณ์ของรัฐสวัสดิการที่ใส่ใจชีวิตของแรงงานที่ดี แต่ต้องคำนึงถึงธุรกิจขนาดเล็กที่รายได้ไม่เยอะ ซึ่งอาจขึ้นค่าแรงตามไม่ไหว และต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมมากจนเกินไป การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต้องเป็นการเติบโตที่แท้จริง เกิดจากขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาคุณภาพของคน ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจ SMEs และการพัฒนาทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด ในเมื่อรัฐเป็นคนออกนโยบายนี้ รัฐก็มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการควบคู่กันไปด้วย รวมถึงให้ความสำคัญกับ “คุณภาพชีวิต” ของแรงงาน ต้องยกระดับทักษะฝีมือของแรงงานให้เพิ่มขึ้นด้วย เพราะสิ่งที่เราต้องการเห็น คือ คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในระยะยาว

ข้อดีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท

ประเทศไทยมีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำและบังคับใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2516 และมีการปรับขึ้นอยู่เรื่อยๆ จากในอดีตพอจะสรุปได้ว่า สิ่งที่ตามมาหลังจากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประชาชนแล้ว ภาคธุรกิจจะค่อยๆ ปรับตัวจนไม่ได้ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ซึ่งข้อดีของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่โดยรวมของแรงงานให้ดีขึ้น โดยแรงงานหาเช้ากินค่ำส่วนใหญ่มีแนวโน้มจับจ่ายใช้สอยเงินที่ได้มาแทบทั้งหมดเพื่อการดำรงชีพ เมื่อเกิดการใช้จ่ายมากขึ้น จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น ช่วยให้เงินสะพัดหมุนเวียนไปทุกหย่อมหญ้าอีกด้วย

ข้อเสียการขึ้นค่าแรง 600 บาท

การขึ้นค่าแรงนั้นไม่ได้มีมุมบวกอย่างเดียว “ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น” เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการ SME หลายคนกังวล การปรับค่าแรงแบบก้าวกระโดด จะกลายเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่ขึ้นค่าแรงไม่ไหว ก็จะต้องปิดกิจการและอาจเห็นคนตกงานจากการถูกเลิกจ้าง เพราะค่าแรงที่เพิ่มขึ้นสูงจะทำให้ธุรกิจขนาดเล็กโตต่อได้ยาก ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ผลกระทบมีไม่มากนัก  แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ คือ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย ในขณะที่ต้องไม่เลือกปฏิบัติว่าใครเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ แต่หากคนได้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ รัฐจะป้องกันปัญหาแรงงานข้ามชาติทะลักเข้ามาได้อย่างไร?

ในส่วนของค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น คงต้องอาศัยแนวทางกลยุทธ์ด้านอื่นๆ ประกอบ งานนี้คงต้องอาศัยคนที่มีฝีมือเท่านั้น “ทำอย่างไรให้ค่าจ้างสูงขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต” ซึ่งต้องเติบโตด้วยกันทั้งระบบ ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย “อย่าพยายามลดต้นทุนโดยคาดคั้นเอากับชนชั้นแรงงาน” รัฐบาลที่ดีมีศักยภาพในการช่วยเหลือจัดการค่าแรงขั้นต่ำให้เพียงพอและเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง