นิตยสารหลายหัวและรายการทีวีของเครือทีวีพูลเองก็ต้องปิดตัวลงเพื่อตัดขาดทุน แม้กระทั่งนิตยสารก็ปรับจากรายปักษ์เป็นรายเดือนจนกระทั่งแจกฟรี และก้าวเข้าสู่รูปแบบสื่อออนไลน์อย่างเต็มตัวทั้ง website และ social media ต่างๆ รวมทั้งปรับโครงสร้างของรูปแบบธุรกิจไปให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภค

หากย้อนไปตอนที่วงการนิตยสารกำลังบูม ถ้าใครอยากรู้เรื่องวงการบันเทิงแบบประหนึ่งเป็นหนึ่งในคนวงใน คงไม่พลาดที่จะซื้อนิตยสารทีวีพูลอย่างแน่นอน เพราะเนื้อหาดุเด็ดครบเครื่องทุกเรื่องของวงการบันเทิงตามสโลแกน รู้ลึก รู้ดี ต้องทีวีพูล

TV Pool กำเนิดขึ้นเมื่อปี 2533 จากการแตกยอดทางธุรกิจของคุณติ๋ม พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชยที่ ณ เวลานั้นทำธุรกิจสื่อวิทยุ แต่กำลังประสบปัญหาราคาสัมปทานที่แพงขึ้น จึงเริ่มมองหาเค้กชิ้นใหม่จากประสบการณ์ที่สั่งสมในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ และบริษัทโฆษณา รวมทั้งเห็นว่ารูปแบบนิตยสารบันเทิงต่างประเทศขายดีเสมอมา จึงเกิดแนวคิดนำมาปรับใช้กับของไทย ซึ่งขณะนั้นการทำนิตยสารบันเทิงไทยเป็นการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับรายการต่างๆ ของแต่ละสถานีโทรทัศน์เท่านั้น

หลังวางแผงได้ไม่นาน นิตยสารก็เติบโตอย่างรวดเร็วเป็นที่โดนใจผู้ที่ชื่นชอบเรื่องวงการบันเทิงอย่างมาก อีกทั้งราคาเพียง 25 บาทซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนทำให้คนทุกเพศทุกวัยสามารถซื้อได้ โดยตลอดเวลาที่ทำนิตยสาร จะเก็บข้อมูลทั้งโดยตรงกับผู้อ่านและทางอื่นๆ เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของผู้อ่านอยู่เสมอ และนำข้อมูลเหล่านั้นมาพิจารณาเนื้อหา และคอลัมน์ต่างๆให้ตรงใจของผู้อ่านมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเจาะลึกเรื่องราวของนักแสดง ดารา นักร้อง และคนที่อยู่ในกระแส ณ ช่วงเวลาต่างๆ ข่าวสารของวงการบันเทิง เพลง กอสซิป แฟชั่น หรือแม้กระทั่งคอลัมน์ดูดวง และอีกหลากหลายคอลัมน์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างแท้จริง จนทำให้ยอดขายของนิตยสารพุ่งกระฉูดต่อเนื่องกันยาวนาน จนแตกไปเป็นนิตยสารอีกหลากหลายหัว รวมทั้งต่อยอดธุรกิจไปสู่วงการโทรทัศน์ทั้ง TV Pool Tonight และ TV Pool Life ซึ่ง ณ เวลานั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก

ตัด ปรับ เปลี่ยน เป็นสิ่งที่ใช่ เปิดโอกาสใหม่ของการแข่งขัน

แต่หากเส้นทางการทำนิตยสารและรายการทีวีก็ไม่ได้สวยหรูตลอดไป เพราะไม่กี่ปีนี้ความนิยมในการซื้อสิ่งพิมพ์และการดูรายการทีวีหายไปอย่างน่าใจหาย เนื่องจากทุกคนหันไปใช้สื่อออนไลน์กันมากขึ้นเพราะทั้งเร็วและฟรี เพียงแค่ปลายนิ้วทุกอย่างก็มาอยู่ตรงหน้า จนทำให้หลายนิตยสารที่โด่งดังต้องปิดตัวลง และรายการทีวีหลายรายการก็หายไปจากจอเช่นกัน

รวมทั้งนิตยสารหลายหัวและรายการทีวีของเครือเองก็ต้องปิดตัวลงเพื่อตัดขาดทุน แม้กระทั่งนิตยสารก็ปรับจากรายปักษ์เป็นรายเดือนจนกระทั่งแจกฟรี และก้าวเข้าสู่รูปแบบสื่อออนไลน์อย่างเต็มตัวทั้ง website และ social media ต่างๆ รวมทั้งปรับโครงสร้างของรูปแบบธุรกิจไปให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภค แม้วันนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าเดิม แต่หลังจากตัด ปรับ และเปลี่ยนก็ยังพอทำให้ธุรกิจไปต่อได้ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือด

กรณีศึกษาบอกอะไรเราบ้าง

1.ชัดเจนกับช่องทางทำเงิน

เนื่องจากผู้ผลิตชัดเจนกับช่องทางการหารายได้ของนิตยสาร ที่ไม่ได้เน้นรายได้จากยอดขายนิตยสาร และอยากให้ทุกคนสามารถเข้าถึงนิตยสารได้ จึงตั้งราคาขายที่ต่ำกว่าต้นทุน แต่ไปโฟกัสที่ยอดขายพื้นที่โฆษณาในนิตยสารแทน ซึ่งทำให้ยอดขายนิตยสารทีวีพูลเป็นอันดับหนึ่งและสามารถขายพื้นที่โฆษณาในนิตยสารได้อย่างล้นหลาม

2.อยากรู้ใจ จึงศึกษา

การหาข้อมูลความต้องการของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สามารถเพิ่ม ตัด ปรับ เปลี่ยนคอลัมน์ต่างๆในนิตยสารเพื่อให้เนื้อหาตรงใจกับผู้อ่านมากที่สุด ส่งผลให้ผู้อ่านอยากติดตามเรื่องราวในเล่มต่อไป

3.สร้างให้จำ ทำให้ดี

สร้างแบรนด์ให้เกิดการรับรู้ในหลายแขนง ไม่ว่าจะต่อยอดหรือขยายธุรกิจไปในรูปแบบใด ก็ยังคงใช้ชื่อเดิม เพื่อให้เกิดการจดจำและทำให้การต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ได้ง่ายกว่าสร้างแบรนด์ขึ้นมาใหม่ แต่การใช้แบรนด์เดิม เพื่อต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ มีทั้งข้อดีและข้อเสียต้องคิดให้ดีอย่างถี่ถ้วน เพราะถ้าเกิดมีอะไรที่ไม่ดีกับผลิตภัณฑ์ใดในแบรนด์เดียวกันอาจส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเช่นกัน

4.ถ้าไม่ปรับ คงต้องปิด

ธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้าอยู่เสมอ เพราะทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวินาที ถ้าเราตามไม่ทัน เราอาจจะถูกกระแสกลบจนทำให้ต้องพับเสื่อกลับบ้านเก่า

5.ตัดใจกับสิ่งที่ไม่ใช่ เพื่อเดินต่อกับทางที่ทำเงิน

ดังเช่นกรณีที่ทีวีปิดตัวนิตยสารหลายตัวเพื่อตัดขาดทุน แล้วปรับโฉมของนิตยสารหลายต่อหลายครั้ง จนเจอทางที่ใช่ จนทำให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้กับการนำเสนอในรูปแบบที่เปลี่ยนไป

สิ่งที่ SME ต้องกลับมาดูตัวเอง

1.มองใกล้เพื่อปรับ

ในสภาวะปัจจุบันการมีความเข้าใจลูกค้า ตลาด และเครื่องมือทางธุรกิจ รวมทั้งธุรกิจต่างๆ ที่สามารถส่งผลกระทบต่อธุรกิจเราได้เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากถ้าเรามัวแต่ทำธุรกิจแบบเดิมๆ ที่เคยทำแล้วมันดี โดยไม่สนใจสิ่งรอบตัว ก็จะทำให้ธุรกิจเราล้มจนต้องปิดตัวลงได้ เพราะสิ่งที่เราคิดว่าดีในวันนั้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ใช่ในวันนี้แล้ว ดังนั้นเราต้องกลับมาทบทวนว่าธุรกิจเรามีสิ่งใดที่ยังต้องปรับเปลี่ยน ตัดหรือเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อีกทั้งต้องทำให้ก้าวเท่าทันและมีความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดอีกด้วย

2.มองไกลเพื่อต่าง

แม้วันนี้หลายธุรกิจต้องปิดตัวเพราะตามไม่ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปก็จริง แต่ก็มีอีกหลายธุรกิจเกิดใหม่ที่ทำยอดขายถล่มทลายเช่นกัน ดังนั้นเราต้องใช้ประสบการณ์ของเราเพื่อคาดการณ์และมองหาโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ เพื่อจะสร้างสิ่งที่แตกต่างออกไปเพื่อให้ธุรกิจเราสามารถรองรับความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้าได้ ถ้าหาเจอและทำได้ก่อน ก็จะเป็นการเปิดประตูบานใหญ่สำหรับธุรกิจของเรา

ไม่ว่าธุรกิจไหนๆ วงการอะไรย่อมมีทั้งขาขึ้นและขาลง แต่ถ้าธุรกิจเราเตรียมพร้อมตั้งรับ และเปิดใจประยุกต์ธุรกิจให้รับการเปลี่ยนแปลงได้ดี มองธุรกิจในมิติใหม่ๆ และยืดหยุ่นในวิธีการ ก็ย่อมทำให้ธุรกิจเราเดินต่อไปได้ด้วยความมั่นคงท่ามกลางคลื่นลมแรงทางธุรกิจได้อย่างแน่นอน

ที่มา

https://www.thairath.co.th/content/554407

https://mgronline.com/entertainment/detail/9570000063330

https://mgronline.com/live/detail/9590000043342

http://libdoc.dpu.ac.th/thesis/131314.pdf

https://positioningmag.com/9632

https://www.thairath.co.th/content/501752

http://www.komchadluek.net/news/ent/207041

บทความโดย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “เขียนสร้างรายได้ออนไลน์ รุ่น 3”

คุณ สุชาดา พิชิตปรีชา
พนักงานบริษัท
ฝ่ายจัดซื้อ และวิเคราะห์ข้อมูล