การที่ Tesco Lotus  มีกระบวนการในการบริหารจัดการเรื่องของต้นทุนที่ดี จึงสามารถขายสินค้าในราคาที่ถูกกว่าได้ ถือเป็นสเต็ปแรกที่สามารถต่อยอดไปยังขั้นต่อๆไปได้ SMEs ก็เช่นกัน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นสถานที่ที่ทำให้การดำเนินชีวิตสะดวกมากขึ้น แหล่งรวมของใช้แทบทุกสิ่ง ไหนจะแอร์เย็นฉ่ำ มีรถเข็นช่วยทุ่นแรง ถือเป็นร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่อยู่คู่คนไทยมานาน

แต่เมื่อโลกเปลี่ยน ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคย่อมเปลี่ยนตาม เหล่าบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลาย ต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองให้ทันความต้องการ หนึ่งในร้านค้าปลีกที่มีชื่อเสียงอย่าง Tesco Lotus เองก็ขอสู้ศึกในสมรภูมินี้เช่นกัน จะมีกลยุทธ์อะไรบ้างนั้น ลองมาดูกันค่ะ

ที่มาที่ไปก่อนจะมาเป็น Tesco Lotus

เริ่มมาจาก ปี 2537 เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เปิดให้บริการโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาแรกที่ศูนย์การค้าซีคอนแสควร์ ดำเนินธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) จนในปี 2541 หลังเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 จึงเกิดการร่วมลงทุนระหว่าง กลุ่มเทสโก้ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกในสหราชอาณาจักรกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กลายเป็นที่มาของ Tesco Lotus จนถึงปัจจุบัน

เบอร์ 1 ของธุรกิจค้าปลีกในไทย

กว่าจะขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะธุรกิจนี้มีการแข่งขันค่อนข้างดุเดือด คู่แข่งก็ล้วนมีแต่ยักษ์ใหญ่ ที่ผ่านมา Tesco Lotus  ก็มีการงัดกลยุทธ์ เพื่อสามารถเข้าถึงใจของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องของราคา และโปรโมชั่นที่มีมาเรื่อยๆ ถือเป็นจุดแข็งของแบรนด์เลยก็ว่าได้

การปรับตัวเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป น้อยคนนักที่จะทำอาหารทานเองที่บ้าน ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมทานอาหารตามร้านอาหารมากขึ้น ทำให้เหล่าบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ โดยหันมาให้ความสำคัญในส่วนของอาหารสด ซึ่งสร้าง Margin ได้ดีกว่าของใช้ภายในบ้าน พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ Dining Zone  บริการปรุงอาหารสด และมีเคาน์เตอร์บาร์ให้ลูกค้าได้นั่งรับประทานอาหารปรุงเสร็จใหม่ๆได้ทันที

ยกระดับคุณภาพอาหารสด  ด้วยภาพลักษณ์ที่ทันสมัยขึ้น

ถ้าถามถึงภาพรวม ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมองว่าTesco Lotus  เป็นร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าภายในบ้านและอาหารทั่วไป แต่

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ จะเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงบางอย่างนั่นคือการยกระดับคุณภาพอาหารสด โดยมีการพัฒนาระบบตั้งแต่แหล่งเพาะปลูก กระบวนการตัดแต่ง บรรจุ ขนส่ง การจัดเรียงสินค้าในร้าน

ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น สินค้ามีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งสินค้าทั่วไปและสินค้านำเข้า รวมถึงสินค้าออร์แกนิกส์  โดยจะมีตัว QR Code บอกรายละเอียด ที่มาที่ไปของอาหารสด และแนะนำการทำอาหารในเมนูต่างๆ  การสร้างภาพลักษณ์ที่ดูดีทันสมัยนี้ ถือเป็นการยกระดับในการจับจ่ายสินค้าของลูกค้า แต่ยังคงไว้ซึ่งคอนเซ็ปต์เดิมคือสินค้าคุณภาพดี ในราคาประหยัด

ทำไมต้องเป็น  “You Shop We Cook”

            การที่คนกลุ่ม Millennials มีไลฟ์สไตล์ที่สามารถรวมเอาทุกสิ่งรอบตัวมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมที่จะ Connect และ Share ได้ตลอดเวลา เห็นได้ชัดในเรื่องของอาหารการกิน ที่ไม่ทำอาหารกินเองที่บ้านแต่มุ่งเน้นการใช้จ่ายไปที่ร้านอาหารเป็นส่วนใหญ่ ทำให้บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตในต่างประเทศ เช่น อเมริกา, ญี่ปุ่น เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า “Grocerants” (Grocery + Restaurants) ที่มีการจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งของซูเปอร์มาร์เก็ตให้เป็นโซน Dining รวมถึงในไทยทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต ต่างมุ่งไปในทิศทางดังกล่าวเช่นกัน

                ในส่วนของ Tesco Lotus นั้น มีบริการภายใต้คอนเซ็ปต์ “You Shop We Cook”  ลูกค้าสามารถเลือกซื้อวัตถุดิบภายในแผนกอาหารสดแล้วนำมาให้ทางเชฟปรุงอาหารโดยคิดค่าบริการ 60 บาท

พร้อมกับมีมุมเคาน์เตอร์ให้ลูกค้าสามารถนั่งรับประทานในสโตร์ได้ หรือลูกค้าสามารถเลือกอาหารจากเมนูที่มีอยู่แล้วก็ได้ ซึ่งสามารถสแกน QR Code เพื่อสั่งจองอาหารล่วงหน้า ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการคอย อีกทั้งยังมีซูชิบาร์ และบริการตัดแต่งเนื้อสัตว์ (butcher service) อีกด้วย ถือเป็นการมอบประสบการณ์แปลกใหม่ให้แก่ลูกค้า

การปรับตัวแต่ละครั้งของ Tesco Lotus สะท้อนให้เห็นถึงอะไร

ถึงแม้ Tesco Lotus จะเป็นยักษ์ใหญ่และผู้นำอันดับหนึ่งในกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต เห็นได้ชัดว่า Tesco Lotus มีการปรับตัวอยู่ตลอดเสมอ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมถึงสามารถยืดหยัดมากว่า 20 ปีและมีสาขามากถึง 1900 สาขา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง

1.ความเข้าใจและรู้จักลูกค้าของตนเองเป็นอย่างดี

Tesco Lotus รู้ว่าคนชั้นกลางเป็นลูกค้าหลัก การตลาดจึงสอดคล้องกับกลุ่มลูกค้า ยิ่งช่วงหลังมานี้การปรับภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัยมากขึ้น รวมถึงสินค้าก็มีหลากหลายมากกว่าเดิม ถือเป็นการยกระดับตนเองรวมไปถึงสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า และยังคงยืนอยู่บนความแข็งแกร่งด้านราคาประหยัด

2.ความใส่ใจในระบบและคุณภาพสินค้า

การที่ Tesco Lotus สามารถจำหน่ายสินค้าคุณภาพดี  โดยเฉพาะอาหารสดนั้น ได้มีการจัดการที่ดี มีการรับซื้อจากแหล่งผลิตโดยตรง มีการวางแผนร่วมกับเกษตรกร รวมถึงกระบวนการต่างๆที่นำสินค้าส่งถึงมือผู้บริโภค เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

บทเรียนที่ SMEs ได้จาก Tesco Lotus

1.การปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และต้องให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภค

สิ่งที่ SMEs ไม่ควรละเลยคือการปรับตัวให้ทันต่อกระแส การที่ Tesco Lotus มีการปรับตัวรวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตรายอื่น ถือเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป

แม้แต่ยักษ์ใหญ่ยังปรับตัว ถึงเวลาแล้วหรือยังสำหรับ SMEs

2.รู้จักตนเองและลูกค้าเป็นอย่างดี

ซุนวู กล่าวไว้ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ไม่ต้องรอให้มีศึกก็นำมาใช้กับธุรกิจได้เป็นอย่างดี SMEs ต้องรู้จุดแข็งรวมถึงจุดด้อยของตนเอง ที่สำคัญต้องรู้จักกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างดี เป้าหมายคือกลุ่มคนชั้นไหน กลุ่มอะไร เช่น กลุ่ม Millennials, กลุ่ม Gen X, กลุ่ม Baby Boomers พฤติกรรมการใช้จ่ายเป็นอย่างไร ต้องทำการตลาดแบบไหนจึงจะเข้าถึงใจลูกค้า

3.จัดการระบบดี ทุกอย่างก็ง่ายขึ้น

การที่ Tesco Lotus  มีกระบวนการในการบริหารจัดการเรื่องของต้นทุนที่ดี จึงสามารถขายสินค้าในราคาที่ถูกกว่าได้ ถือเป็นสเต็ปแรกที่สามารถต่อยอดไปยังขั้นต่อๆไปได้ SMEs ก็เช่นกันการจัดการกับความยุ่งยาก เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง คงไม่ต่างกับเชือกที่พันกันยุ่งเหยิง จนจับต้นชนปลายไม่ถูก ยิ่งแก้ก็ยิ่งพันกัน แต่ถ้าทำทุกอย่างให้เป็นระบบตั้งแต่แรกก็จะสร้างความสะดวกสบาย เรียกได้ว่าชีวิตง่ายขึ้นนั่นเอง

สำหรับการปรับตัวของ Tesco Lotus ถือเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง แต่จะประสบความสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหนคงต้องรอดูกัน ซึ่ง

การแข่งขันทางธุรกิจนั้นไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่ท้ายที่สุดแล้วผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ก็คือผู้บริโภคนั้นเอง

 

บทความโดย

ผู้ผ่านรับการฝึกอบรม “ใช้เวลาว่างเขียนบทความสร้างรายได้”

คุณ  มาลินี เพ็ชรอุไร

แม่บ้านครูสอนพิเศษวิชาวิทยาศาสตร์