หากคุณอยากเขียนบทความเกี่ยวกับธุรกิจให้งานออกมาดี สิ่งสำคัญอยู่ที่การฝึกฝนครับ ยิ่งคุณฝึกฝนมากเท่าไร กระบวนความคิด ทักษะในการถ่ายทอดเรื่องราว ทักษะในการใช้ภาษาของคุณก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ลองนำ 8 เคล็ดลับข้างต้นไปปรับใช้ดูนะครับ 

ในยุคแห่งการตลาดออนไลน์ สิ่งที่มีอิทธิพลในการตัดสินว่าในการทำการตลาดออนไลน์นั้น  คุณจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะจะวัดกันที่ทำการคอนเทนต์ หากคอนเทนต์ใดน่าสนใจและดึงดูดผู้คนให้เข้าไปทำความรู้จักกับธุรกิจหลักได้ คอนเทนต์นั้นคือผู้ชนะ

การเขียนบทความก็คือรูปแบบหนึ่งในการทำคอนเทนต์เพื่อโปรโมทให้ธุรกิจที่ต้องการเป็นที่รู้จัก เพราะฉะนั้นบทความที่ดีมันไม่ได้เป็นแค่หน้าตาของธุรกิจเท่านั้น แต่บทความยังอาจเป็นลมหายใจที่จะต่อชะตาชี้อนาคตของบริษัทได้เลยทีเดียว ดังนั้นหากคุณอยากจะเขียนบทความขึ้นมาเพื่อให้คนรู้จักธุรกิจของคุณ คุณจะสักแต่ว่าเขียนไม่ได้อย่างเด็ดขาด ในวันนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจพร้อม ๆ กันครับว่า หากอยากจะเขียนบทความเพื่อโปรโมทธุรกิจโดยมีวัตถุประสงค์ในการเรียกลูกค้าสัก 1 เรื่อง คุณจะต้องเขียนมันออกมาอย่างไร

        1. ค้นคว้ารวบรวมข้อมูลประวัติความเป็นมา จุดดีจุดเด่นของธุรกิจนั้นทุกซอกทุกมุม

การจะเขียน Story เรื่องราวของใครสักคนขึ้นมา คุณต้องรู้และเข้าใจเขาในทุกแง่ทุกมุม การเขียนบทความเพื่อธุรกิจก็ไม่ต่างกันครับที่คุณจะต้องรู้และเข้าใจในสิ่งที่คุณจะต้องเขียน เริ่มตั้งแต่ประวัติความเป็นมา นโยบายหรือวิสัยทัศน์ของธุรกิจ สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ธุรกิจนั้นดำเนินกิจการอยู่และต้องทำความเข้าใจว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์นั้นมีจุดดีจุดเด่นอะไรบ้าง ข้อมูลเหล่านี้คุณต้องทำความเข้าใจเสมือนว่าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นเอง คุณจึงจะถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างน่าสนใจ จำไว้เสมอครับว่าจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดคือคุณต้องมีวัตถุดิบที่จะเขียน ถ้าวัตถุดิบดี ขั้นต่อ ๆ ไปก็ไม่ยากแล้วครับ

        2. วางแผนว่าคุณจะนำเสนอเรื่องราวออกมาอย่างไร จะเล่าเรื่องออกมาแบบไหนจึงจะเหมาะสมกับธุรกิจนั้น ๆ

ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไรหากคุณอยากให้งานออกมาดีคุณต้องมีการวางแผนการที่ดี ในงานเขียนบทความเพื่อธุรกิจก็เช่นกันที่คุณจำเป็นต้องวางแผนการเขียนออกมา แล้วแผนที่คุณวางไว้นั้นมันจะเป็นแผนที่ให้คุณดำเนินการเขียนตั้งแต่ตัวอักษรแรกไปจนจบบทความ ก่อนจะทำการเขียนคุณต้องวางรูปแบบในการเขียนออกมาคร่าว ๆ ว่าคุณจะนำเสนอเรื่องราวประมาณไหนคุณจะเล่าเรื่องราวออกมาในรูปแบบใดและด้วยโทนแบบใด สิ่งที่คุณควรทำแน่ ๆ คือต้องวางพล็อตของเรื่อง เพราะสิ่งนี้จะช่วยประคองเรื่องราวที่คุณเขียนไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางและทำให้บทความของคุณเรียบรื่น ไม่สะดุดครับ

            3. รู้จักกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ คุณจะรู้ว่าโทนของเรื่องที่เขียนจะเป็นอย่างไร แต่ถ้ารู้จักการทำ SEO ด้วย คุณจะรู้วิธีให้กลุ่มเป้าหมายหาบทความของคุณเจอ

ก่อนจะเริ่มเขียนคุณต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจคือใคร สิ่งนี้สำคัญมากในการกำหนดโทนของเรื่องราว ถ้ากลุ่มเป้าหมายของธุรกิจคือกลุ่มวัยรุ่น โทนของเรื่องราวต้องสนุกสนานและกระชับเข้าประเด็นจึงจะดึงดูดความสนใจได้ แต่ถ้ากลุ่มเป้าหมายของธุรกิจเป็นกลุ่มคนวัยกลางคนขึ้นไป คุณจะใช้โทนหรือวิธีการเล่าเรื่องที่สดใสมากเกินไปก็ไม่ได้ คุณต้องเปลี่ยนมาเล่าเรื่องที่ให้ความรู้สึกน่าเชื่อถือแทนครับ ฉะนั้นก่อนจะเขียนคุณต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจเสียก่อน

ขณะเดียวกันถ้าอยากให้บทความถูกพบเห็นได้ง่าย คุณก็ต้องรู้จักทำ SEO ให้เป็น ยิ่งคุณเขียนบทความและใช้คีย์เวิร์ดเก่งมากเพียงใด โอกาสที่กลุ่มเป้าหมายที่คุณอยากให้อ่านบทความก็จะยิ่งมาเจอบทความที่เขียนได้ง่ายขึ้นครับ

        4. จะเขียนบทความต้องจัดการกระบวนความคิดให้ดี ถ้าเขียนแล้ววนไปวนมาหาทางจบไม่ลงคุณนั่นเองที่จะจบ

เคยไหมครับที่อ่านบทความอะไรสักอย่างจนจบแล้วไม่รู้ว่าบทความนั้นต้องการจะสื่ออะไรกับคุณ หากคุณคิดจะเขียนบทความเพื่อธุรกิจสิ่งที่คุณจะต้องฝึกคือการจัดกระบวนความคิดให้เป็นลำดับ มิเช่นนั้นแทนที่จะช่วยโปรโมทธุรกิจให้เป็นที่รู้จัก จะกลายเป็นว่าคุณนั่นเองที่ “ฆ่า” ธุรกิจนั้นไปเรียบร้อย ถ้าคุณยังไม่เก่งพอที่จะเรียงลำดับเรื่องราวให้ดี คำแนะนำที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่คุณก็คือ “พล็อตเรื่องราวทั้งหมดลงบนกระดาษแล้วเขียนรวบรวมสิ่งที่อยากสื่อออกมาเป็นลายแทง” นี่เป็นวิธีการที่ผู้เขียนใช้เสมอในการเขียนบทความเพราะมันจะช่วยให้ลำดับความคิดของเราเป็นลำดับมากขึ้นครับ

        5. นำเสนอเรื่องราวด้วยความซื่อสัตย์ ไม่โอเว่อร์และไม่อวยตัวเองมากเกินไป

ความซื่อสัตย์ในการนำเสนอและถ่ายทอดเรื่องราวเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเด็ดขาดหากคุณคิดจะเขียนบทความเพื่อธุรกิจครับ คุณต้องถ่ายทอดเรื่องราวอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงที่จับต้องได้ แต่หากคุณจะเขียนเชียร์คุณยังสามารถทำได้แต่ต้องไม่ใช่การเขียนที่อวยจนดูโอเว่อร์และเป็นไปไม่ได้ครับ เพราะหากลูกค้ามารู้ที่หลังว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบทความมันไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เมื่อนั้นธุรกิจนั้นก็ดับอนาถเช่นกัน ความซื่อสัตย์ต่อข้อมูลถือเป็นจรรยาบรรณหนึ่งที่นักเขียนไม่ควรมองข้าม

        6. ตีแสกหน้าลูกค้าด้วยเรื่องราวที่ว่า “ทำไมลูกค้าต้องเลือกสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของธุรกิจนี้”

กลยุทธ์ในการเขียนบทความที่ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้อ่านและเปลี่ยนผู้อ่านเหล่านั้นให้กลายมาเป็นลูกค้าที่ได้ผลดีที่สุดอย่างหนึ่งคือ “การขยี้ปัญหาของลูกค้าให้กระจุย” หากคุณขยี้ปัญหาที่ใครสักคนต้องการความช่วยเหลือให้แหลกลาญได้ คุณย่อมได้ลูกค้าเพิ่มเรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่ของคุณแล้วครับว่าคุณจะเอาปัญหาของลูกค้ามาเขียนมาขยี้อย่างไร ที่ลูกค้าอ่านแล้วรู้สึกว่าโดนคุณตีแสกตรงกลางหน้า ถ้าคุณทำให้ลูกค้าที่อ่านเจอมีอารมณ์ร่วมกับคุณได้ บทความนั้นถือว่าประสบความสำเร็จครับ

        7. เพิ่มความน่าเชื่อถือด้วยข้อมูลเชิงวิชาการและสถิติ

สถิติไม่เคยหลอกใครและข้อมูลสำคัญเชิงวิชาการคือตัวดึงดูดความน่าสนใจชั้นยอดให้แก่บทความธุรกิจที่คุณกำลังเขียนครับ เพราะการที่คุณเขียนเรื่องราวอะไรสักอย่างขึ้นมาโดยมีเพียงแค่คำบอกเล่าลอย ๆ ของคุณ ความน่าเชื่อถือย่อมไม่เท่ากับการหยิบยกข้อมูลเชิงวิชาการและสถิติมาประกอบ ลองค้นคว้าข้อมูลสำคัญในเรื่องราวของธุรกิจที่คุณกำลังเขียน หรือสินค้าที่คุณกำลังเขียนถึงแล้วนำมาแทรกดูครับ บทความของคุณจะกลายเป็นบทความที่มีคุณประโยชน์ขึ้นมาอย่างมากเลยทีเดียว แต่คุณเองก็ต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเช่นกันมิเช่นนั้นบทความของคุณก็จะกลายสภาพเป็นข้อมูลขยะได้เช่นกัน

        8. รูปภาพประกอบ อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรละเลย

จะเขียนบทความธุรกิจทั้งที ถ้ามีแต่ตัวอักษรพรืดไปหมด ความน่าสนใจของเรื่องมันแทบจะหายไปกว่าครึ่งครับ อย่าละเลยที่จะแทรกรูปภาพของสินค้าหรือตัวธุรกิจลงไปในบทความเพราะนอกจากจะเสริมความน่าสนใจให้แก่บทความนั้น รูปภาพสินค้าและธุรกิจยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตัวบทความขึ้นอีกอย่างมากครับ 

หากคุณอยากเขียนบทความเกี่ยวกับธุรกิจให้งานออกมาดี สิ่งสำคัญอยู่ที่การฝึกฝนครับ ยิ่งคุณฝึกฝนมากเท่าไร กระบวนความคิด ทักษะในการถ่ายทอดเรื่องราว ทักษะในการใช้ภาษาของคุณก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ลองนำ 8 เคล็ดลับข้างต้นไปปรับใช้ดูนะครับ เพื่อให้งานของคุณออกมาตรงใจลูกค้า ถูกใจคนอ่าน และเพิ่มยอดขายให้แก่ธุรกิจที่คุณเขียนบทความให้ครับ