เงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ มีความสำคัญอย่างมาก ผู้ประกอบการจะละเลยไม่ได้ ต้องบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพ คล่องตัว มีกำไรภายใต้ความเสี่ยงเหมาะสมโดยอาศัยเทคนิคต่าง ๆ มากำหนดนโยบายอย่างสมดลและหลีกเลี่ยงข้อห้ามที่เป็นอันตรายต่อการบริหารเงินทุนหมุนเวียน

อย่างรู้กัน เงินทุนหมุนเวียน หรือ Working Capital เป็นเงินทุนของธุรกิจใช้หมุนเวียนดำเนินงานก่อนได้รับเงินสดจากการขายสินค้าและบริการ หรือการชำระหนี้จากลูกหนี้

ธุรกิจจำเป็นต้องมีเงินทุนหมุนเวียนสำรองไว้ใช้หลายกรณี ได้แก่

  • จ่ายเงินสดในการชำระค่าสินค้า/วัตถุดิบ
  • ชำระหนี้คืนเจ้าหนี้
  • จ่ายค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่าง ๆ ของธุรกิจ

เงินทุนหมุนเวียนจึงเปรียบได้กับเลือดแดงที่คอยสนับสนุนส่วนต่าง ๆ ของธุรกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น หากเลือดข้นติดขัด เช่น เน้นสร้างสินทรัพย์ถาวร สต๊อกสินค้ามากเกินไป หรือ ปล่อยเครดิตลูกค้าจำนวนมาก ทำให้เงินทุนจมหรือไหลออกเกินความจำเป็น ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพโดยรวมของธุรกิจ ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของธุรกิจ ในแต่ละวันต้องบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอสําหรับการใช้จ่าย และสามารถชําระหนี้ได้เมื่อถึงกําหนด

การบริหารเงินทุนหมุนเวียนดี ธุรกิจเติบโตเจริญก้าวหน้า แต่หากบริหารเงินทุนหมุนเวียนแย่ ธุรกิจอาการโคม่ามีสิทธิ์พัง

ผู้ประกอบจำเป็นต้องบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยใช้หลักเกณฑ์ด้านสภาพคล่อง ระดับของความเสี่ยงและกำไรในระดับที่ยอมรับได้เป็นส่วนในการพิจารณา โดยทั่วไปธุรกิจที่ลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์ถาวรมีสภาพคล่องสูง  ความเสี่ยงต่ำ กำไรต่ำ ในทางตรงข้าม ลงทุนสินทรัพย์ถาวรมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนส่งผลสภาพคล่องต่ำ ความเสี่ยงสูง  กำไรสูง ดังนั้น การบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพต้องอาศัยดุลยพินิจอย่างสูงเพื่อลดการสูญเสียกำไรจากการลงทุน เพิ่มความคล่องตัวด้านการดำเนินงาน และอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

การบริหารเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ (Working Capital Management)  เป็นการบริหารสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียน ให้เกิดความสมดุลแบ่งได้ 3 ลักษณะ

  1. เงินทุนหมุนเวียนเป็นศูนย์(Zero Position) เป็นการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่สินทรัพย์หมุนเวียนเท่ากับหนี้สินหมุนเวียน  ผลที่ได้ ธุรกิจมีสภาพคล่อง กำไรและความเสี่ยงในระดับปานกลาง
  2. เงินทุนหมุนเวียนเป็นบวก(Positive Position)เป็นการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่มีสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าหนี้สินหมุนเวียน มีผลทำให้กิจการมีสภาพคล่องสูง   ความเสี่ยงต่ำ และความสามารถในการทำกำไรลดลง
  3. เงินทุนหมุนเวียนเป็นลบ (Negative Position) เป็นการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่มีสินทรัพย์หมุนเวียนน้อยกว่าหนี้สินหมุนเวียนมีผลทำให้กิจการมีสภาพคล่องต่ำ  ความเสี่ยงสูงขึ้น  แต่มีกำไรสูง

ผู้ประกอบการควรบริหารเงินทุนหมุนเวียนในแต่ละช่วงเวลาเกิดความสมดุลสอดคล้องกับสถานการณ์ทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอก

เทคนิคการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่ดี

1. จัดการเงินสดให้เป็นระบบ โดยแบ่งออกเป็น

  • เงินสดย่อย สำหรับค่าใช้จ่ายรายวันจำนวนไม่มาก เช่น ค่าแสตมป์ ค่ายานพาหนะ ค่าเครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น ทำให้สะดวกในการใช้จ่าย ควบคุมรายจ่ายที่เกิดขึ้นประจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เงินสดในมือ ได้จากการขายประจำวันและเงินทอน เป็นส่วนที่ไม่มีผลตอบแทน ควรมีเท่าที่จำเป็น ลดความเสี่ยงจากการสูญเสีย เช่น การขโมย ดังนั้นควรนำไปฝากธนาคารทุกวัน
  • เงินฝากกระแสรายวัน อำนวยความสะดวกในการบริหารเงินได้อย่างคล่องตัวและปลอดภัยโดยใช้เช็คสั่งจ่ายของธนาคารแทนการใช้เงินสด
  • เงินฝากออมทรัพย์ ใช้สำหรับรับโอนเงินจากเงินฝากกระแสรายวันเพื่อรับดอกเบี้ย เป็นเงินสำหรับใช้จ่ายภาษีต่าง ๆ หรือ ใช้ในกรณีฉุกเฉิน

2. นำหลักทรัพย์ลงทุนชั่วคราวเพื่อสร้างรายได้

ผู้ประกอบการสามารถนำเงินสดที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายหรือชำระหนี้ทันทีไปลงทุนในหลักทรัพย์ระยะสั้นหรือตราสารในตลาดเงินซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าเก็บไว้ในบัญชีกระแสรายวันซึ่งไม่มีดอกเบี้ย และบัญชีออมทรัพย์ซึ่งดอกเบี้ยต่ำมาก

3. กำหนดนโยบายบริหารลูกหนี้

ในกรณีขายเชื่อ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีวิธีการบริหารลูกหนี้ โดยกำหนดเป็นนโยบายขายเชื่อ มีรายละเอียดสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

  • ประเภทลูกค้าและวงเงินขายเชื่อ
  • ระยะเวลาและเงื่อนไขขายเชื่อ
  • วิธีการควบคุมขายเชื่อ และมาตรการแก้ปัญหา

4. จัดการสินค้าคงเหลือเหมาะสม

เป้าหมายหลักของการจัดการสินค้าคงคลัง ทำให้ค่าใช้จ่ายรวมในการจัดการสินค้าคงเหลือมีค่าน้อยที่สุดในขณะลูกค้าได้รับความพอใจ ดังนั้นผู้ประกอบการต้องบริหารสินค้าคงคลังให้ปริมารพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป เงินลงทุนจะได้ไม่จมอยู่กับสินค้า ค่าใช้จ่ายในการบริหารสินค้าเหลือน้อยและมีสินค้าพร้อมขายแก่ลูกค้าทันท่วงที

7 ข้อห้ามการบริหารเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ

  1. ถือเงินสดมากเกินความจำเป็น ธุรกิจเสียโอกาสในการลงทุนที่ให้กำไรสูงกว่า
  2. ขายเชื่อมากเกินไป เกิดลูกหนี้ที่เก็บไม่ได้จำนวนมากเงินทุนจมในตัวลูกหนี้ เสี่ยงเกิดหนี้สูญ มีค่าใช้จ่ายเก็บหนี้มากขึ้น
  3. สต๊อกสินค้าคงเหลือเกินความจำเป็นเงินทุนจมในสินค้า ระยะยาวสินค้าเสื่อมสภาพหรือล้าสมัยจนไม่สามารถขายได้ และเกิดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้ามากขึ้น
  4. ถือเงินสดน้อยเกินไป ส่งผลธุรกิจดำเนินงานติดขัด ไม่ราบรื่น เพราะมีเงินสดไม่เพียงพอในการจ่ายชำระหนี้จ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
  5. เร่งรัดชำระหนี้เร็วเกินไป อาจมีผลทำให้ยอดขายลดลง เพราะลูกค้าเปลี่ยนการตัดสินใจไปซื้อสินค้าจากรายอื่นที่ให้เครดิตนานกว่า
  6. สินค้าคงเหลือน้อยเกินไป ทำให้สินค้าขาดมือส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและส่วนแบ่งตลาดลดลง
  7. ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนระยะสั้นมากเกินไป เพื่อนำมาจ่ายชำระหนี้ให้ทันกำหนด เช่น การกู้ยืมเงินจากธนาคาร สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ทันตามกำหนด แต่ไม่สามารถทำให้สภาพคล่องของกิจการดีขึ้น กลับกันทำให้ธุรกิจมีปัญหาสภาพคล่องมากขึ้นกว่าเดิมเพราะอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน(Current Ratio) เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ลดลง

เลือดแดงเลี้ยงธุรกิจอย่าง เงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ มีความสำคัญอย่างมาก ผู้ประกอบการจะละเลยไม่ได้ ต้องบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพ คล่องตัว มีกำไรภายใต้ความเสี่ยงเหมาะสมโดยอาศัยเทคนิคต่าง ๆ มากำหนดนโยบายอย่างสมดลและหลีกเลี่ยงข้อห้ามที่เป็นอันตรายต่อการบริหารเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ภาวการณ์แข่งขันทางการตลาดและ สภาวะแวดล้อมอีกด้วย

เงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ